สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเผยภาพถ่าย “ดาวเสาร์วงแหวนบางเฉียบ” ช่วงใกล้โลกที่สุดในรอบปี 67 ระยะห่าง 1,295 ล้านกิโลเมตร

64

9 ก.ย. 67 – NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพถ่าย “ดาวเสาร์” ในช่วงใกล้โลกที่สุดในรอบปี บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร สังเกตวงแหวนบางได้อย่างชัดเจน หลังจากนี้ ดาวเสาร์จะยังคงปรากฏบนท้องฟ้าไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และวงแหวนจะปรากฏบางลงเรื่อยๆ

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ กล่าวคือ ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 1,295 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวเสาร์จะเริ่มปรากฏทางทิศตะวันออก สังเกตได้ด้วยตาเปล่ายาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

3.3

สำหรับบรรยากาศสังเกตปรากฏการณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของไทยมีฝนตกและมีเมฆมากจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นยางิ และมรสุมตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่สามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์ได้ด้วยตาเปล่า และหากสังเกตดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นวงแหวนปรากฏค่อนข้างบาง เนื่องจากระนาบวงแหวนของดาวเสาร์เอียงทำมุมกับโลกเพียงประมาณ 4 องศา และจากนี้มุมเอียงจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2568 วงแหวนดาวเสาร์จะมีมุมเอียงน้อยที่สุด จนดูเสมือนไร้วงแหวน (ไม่สามารถสังเกตได้เนื่องจากตรงกับช่วงกลางวัน และจะกลับมาปรากฏเหนือท้องฟ้าเมืองไทยอีกครั้งในช่วงเช้ามืดเดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป) เมื่อมองจากโลกจะเห็นดาวเสาร์ดูเสมือนไร้วงแหวนได้ในทุกๆ 15 ปี เป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจในการชมดาวเสาร์ที่ทำให้เราได้เห็นความสวยงามที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี

ผู้ที่พลาดชมดาวเสาร์ในคืนใกล้โลกที่สุดในรอบปี หลังจากนี้ดาวเสาร์จะยังคงปรากฏบนท้องฟ้าสังเกตได้ตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 หากคืนใดสภาพอากาศดีจะสามารถสังเกตดาวเสาร์ได้ด้วยตาเปล่า หรือชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ได้ทุกคืนวันเสาร์ กับกิจกรรม NARIT Public Night ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา และสงขลา และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป สามารถร่วมกิจกรรมได้ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ทุกแห่งเข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลกครั้งต่อไป คือ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ตามเวลาประเทศไทย ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างชัดเจน เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงรุ่งเช้าวันถัดไป