“วันนอร์” ประธานรัฐสภา เผย 13 ก.ค.นี้ เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายหลังเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แบ่งอภิปราย ส.ส. 4 ชั่วโมง ส.ว. 2 ชั่วโมง ก่อนลงมติในช่วง 17.00 น.

55

“วันนอร์” ประธานรัฐสภา เผย 13 ก.ค.นี้ เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายหลังเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แบ่งอภิปราย ส.ส. 4 ชั่วโมง ส.ว. 2 ชั่วโมง ก่อนลงมติในช่วง 17.00 น.

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันกับตัวแทนคณะกรรมาธิการสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิสภา) และตัวแทนจากพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันที่จะทำให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ คาดว่า จะมีการลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. ซึ่งก่อนการลงมตินั้น จะเปิดโอกาสให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)อภิปรายก่อน โดยแบ่งเป็นเวลาของ ส.ส.ทุกพรรคการเมือง รวมกัน 4 ชั่วโมง โดยไม่กำหนดเวลาของ ส.ส.ผู้ที่จะอภิปราย และหากมีการพาดพิง ก็สามารถชี้แจงได้ในกำหนดเวลาที่เหมาะสม ขณะที่เวลาอภิปรายของ ส.ว. มีเวลา 2 ชั่วโมง

ส่วนการเปิดโอกาสให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ก่อนการลงมติได้หรือไม่นั้น ประธานรัฐสภาชี้แจงว่า ตามขั้นตอนจะมีการเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กำหนด และพรรคการเมืองสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภาก่อน จากนั้นจะมีการอภิปรายโดย ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งก่อนที่จะมีการลงมติ ก็สามารถอภิปรายถึงความเหมาะสม คุณสมบัติ และเรื่องต่าง ๆ ได้ เมื่อการอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วก่อนมีการลงมติ หากมี ส.ส. หรือ ส.ว.เสนอให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ ก็จะต้องขอมติจากที่ประชุมก่อน เนื่องจากข้อบังคับการประชุมไม่ได้กำหนดขั้นตอนนี้ไว้

นอกจากนี้ ประธานรัฐสภา ยังปฏิเสธที่จะกล่าวถึงกรณีที่หากรัฐสภาไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในครั้งแรก ในการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งถัดไปจะสามารถเสนอชื่อนายพิธาได้อีกหรือไม่ โดยระบุว่าเนื่องจากยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า การลงมติครั้งแรกผลจะเป็นอย่างไร หากไม่ผ่านก็จะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง โดยยึดรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุม และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินในอดีต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จึงขอให้การประชุมฯ ครั้งแรกผ่านพ้นไปก่อน หากยังไม่ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ รัฐสภาก็จะต้องดำเนินการหาตัวบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐสภา

นายวันมูหะมัดนอร์ ยังยืนยันว่า ไม่รู้สึกกังวลต่อการอภิปรายบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมรัฐสภา เนื่องจาก มีข้อบังคับการประชุมกำกับไว้แล้ว จึงไม่น่าจะมีความวุ่นวายใด ๆ เช่นเดียวกับการมีมวลชนมาติดตามการประชุมในวันดังกล่าว ซึ่งมีมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยของ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่มาปฏิบัติหน้าที่ และในวันนี้ (11 ก.ค. 66) ตนได้นัดประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะช่วยอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยประชาชนที่เดินทางมาติดตามการประชุม รวมถึงจะมีการถ่ายทอดระบบภาพ และเสียงการประชุมไปยังสถานที่ที่กรุงเทพมหานครจะจัดไว้รองรับ โดยหวังว่า การประชุมในวันที่ 13 ก.ค. นี้ จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเชื่อในเจตนาดีของประชาชนที่ต้องการเห็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง อย่างไรก็ตามหากเกิดเหตุความวุ่นวายทำให้การประชุมไม่เรียบร้อย ก็จะทำให้การได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ล่าช้า และกระทบต่อความเชื่อถือของประเทศ กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอความร่วมมือจากทุกคนให้การประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านพ้นไปด้วยดี