7 ก.ค. 66 – เพจเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ได้โพสต์เรื่อง 7 เดือน 7 วันทานาบาตะ ตำนานความรักจากดวงดาว ที่เรียบเรียงโดย ดร. มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. ระบุว่า
ถ้าพูดถึง วันวาเลนไทน์ หรือ วันแห่งความรัก แน่นอนทุกคนรู้ว่าคือ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่ในประเทศญี่ปุ่น วันแห่งความรักคือ วันที่ 7 เดือน 7 หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า #วันทานาบาตะ (Tanabata / 七夕) ซึ่งตำนานวันแห่งความรักของญี่ปุ่น เป็นเรื่องราวความรักของ “หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า” นิทานเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้า 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มดาวพิณ กลุ่มดาวหงส์ และกลุ่มดาวนกอินทรี นอกจากนี้ตำนานวันทานาบาตะยังมีต้นกำเนิดมาจากนิทานเรื่อง 7 นางฟ้าของประเทศจีนอีกด้วย
หัวค่ำช่วงนี้ จะสังเกตเห็นกลุ่มดาวสว่างเด่นทั้ง 3 กลุ่มดาวนี้ ปรากฏขึ้นมาจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก สังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืน กลุ่มดาวทั้งสามจะมีความสำคัญอย่างไรในทางดาราศาสตร์ และน่าสนใจยังไงบ้าง มาติดตามกันครับ
สามเหลี่ยมฤดูร้อน (Summer Triangle)
หากเราลองแหงนหน้ามองขึ้นไปบนฟ้าในค่ำคืนนี้ จะเห็นดาวสว่างสามดวง เรียงรายกันคล้ายกับสามเหลี่ยมมุมฉากอยู่บนท้องฟ้า เราเรียกสามเหลี่ยมนี้ว่า “สามเหลี่ยมฤดูร้อน” (Summer Triangle)
สามเหลี่ยมฤดูร้อนจัดเป็น “ดาวเรียงเด่น” (asterism) ที่รู้จักกันดีอีกกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากสามเหลี่ยมนี้สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย แม้ในเมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางแสง และจะโผล่พ้นขอบฟ้าในช่วงที่ตรงกับฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ แสดงถึงการมาของฤดูร้อน อันเป็นที่มาของชื่อ
ดาวสว่างสามดวงที่ประกอบขึ้นเป็นสามเหลี่ยมฤดูร้อน ได้แก่ดาว Vega (บน) Deneb (ซ้าย) และ Altair (ขวา) ซึ่งเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวพิณ (Lyra) หงส์ (Cygnus) และ นกอินทรี (Aquila) ตามลำดับ
แม้ว่าเราอาจจะสังเกตเห็นดาว Vega และ Deneb มีความสว่างที่ใกล้เคียงกัน แต่แท้จริงแล้วดาว Vega นั้นอยู่ห่างออกไปจากเราเพียง 25 ปีแสง ในขณะที่ดาว Deneb นั้นอยู่ห่างออกไปถึงประมาณ 2,500 ปีแสง หรือไกลกว่าดาว Vega เกือบร้อยเท่า ทั้งนี้เป็นเพราะดาว Deneb ปลดปล่อยพลังงานออกมามากกว่าดาว Vega ถึงกว่าหนึ่งหมื่นเท่า หรือมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึงเกือบสองแสนเท่านั่นเอง
ท่ามกลางดาวสามดวงนี้ เราจะสามารถสังเกตเห็นแถบกาแล็กซีทางช้างเผือกที่เราอาศัยอยู่พาดผ่าน หากสังเกตด้วยตาเปล่าในท้องฟ้าที่มืดมิดไร้แสงรบกวน เราอาจจะสังเกตเห็นเป็นฝ้า หรือเมฆจางๆ สีขาวขุ่นพาดผ่านสามเหลี่ยมฤดูร้อนนี้ อันเป็นที่มาของชื่อภาษาไทยว่า “ทางช้างเผือก” และชื่อภาษาอังกฤษ “Milky Way” ซึ่งแปลว่าเส้นทางสายน้ำนม
ในตำนานของเอเชียตะวันออกไกล มีตำนานพูดถึงเด็กเลี้ยงวัว (แทนด้วยดาว Altair) และสาวทอผ้า (แทนด้วยดาว Vega) ที่ความรักของทั้งสองถูกขวางกั้นเอาไว้โดยแม่น้ำอันกว้างใหญ่ และในหนึ่งปีจะมีเพียงวันเดียวที่จะมีสะพานพาดมาเพื่อให้ทั้งสองได้มาพบกัน อันเป็นที่มาของเทศกาลทานาบาตะที่เรารู้จักกันในประเทศญี่ปุ่น
ในความเป็นจริงแล้วนั้น ดาวทั้งสองถูกกั้นด้วยห้วงอวกาศอันอ้างว้างเป็นระยะทางถึงกว่า 16 ปีแสงเลยทีเดียว
เมื่อโลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้สามเหลี่ยมฤดูร้อนขึ้นและตกเร็วขึ้นทุกวัน จนไม่สามารถสังเกตได้ในเวลากลางคืนอีกต่อไป เป็นสัญญาณแห่งการสิ้นสุดฤดูร้อน และเข้าสู่ฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ ซึ่งอีกสามเหลี่ยมหนึ่ง “สามเหลี่ยมฤดูหนาว” จะโผล่ขึ้นมาแทนที่ เป็นสัญญาณของฤดูหนาวที่กำลังย่างกรายเข้ามาแทน
เรื่องราวของดาวแห่งความรัก (เรียบเรียงโดย พัชริดา ยั่งยืนเจริญสุข – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาตร์)
กาลครั้งหนึ่ง มีนางฟ้าองค์หนึ่งซึ่งเป็นธิดาของเทพผู้ครองสวรรค์ ชื่อว่า “โอริฮิเมะ” (Orihime) หรือ “เวกา” (Vega) นางมีความงดงามและยังขยันขันแข็งในการทำงาน รวมถึงมีฝีมือในการทอผ้าที่ดีมากอีกด้วย ทำให้เหล่าเทพทั้งหลายพึงพอใจเป็นอย่างมาก เวลาส่วนใหญ่ของโอริฮิเมะจึงเป็นการนั่งทอผ้า ซึ่งแทบจะไม่ได้หยุดพักเลย ทำให้เทพผู้ครองสวรรค์ผู้เป็นบิดาเป็นห่วงและสงสารธิดาของตนจึงคิดที่จะให้นางมีคู่ครอง เทพผู้เป็นบิดาจึงประกาศจัดพิธีเลือกคู่ให้กับโอริฮิเมะ
ในพิธีมีเหล่าชายหนุ่มมากมายมาให้โอริฮิเมะเลือก แต่โอ้ เจ้ากรรม ชายหนุ่มที่โอริฮิเมะถูกใจกลับเป็นเพียงแค่ชายเลี้ยงวัวธรรมดา ๆ เท่านั้น ชายหนุ่มคนนี้ชื่อว่า “ฮิโกโบชิ” (Hikoboshi) หรือ “อัลแตร์” (Altair) ทั้งสองตกหลุมรักกันตั้งแต่แวบแรกที่สบตากัน เทพผู้เป็นบิดาเห็นว่าทั้งสองถูกตาต้องใจกัน จึงจัดการให้ทั้งสองได้แต่งงานกันสมดังใจปรารถนา แต่ว่า ปัญหาก็เกิดขึ้น…
เมื่อได้ใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ทั้งสองคนต่างก็ลุ่มหลงอยู่ในความรักที่มีให้กันและกัน จนโอริฮิเมะไม่เป็นอันทำการทำงาน ไม่กลับมาทอผ้าดังเดิม ส่วนฮิโกโบชิก็ละทิ้งวัวของตัวเอง จนมีวัวเดินเพ่นพ่านไปทั่วสวรรค์ ก่อความเดือดร้อนให้กับเทพบนสวรรค์ เทพผู้ครองสวรรค์ผิดหวังและพิโรธอย่างมาก จึงลงโทษทั้งสองให้แยกจากกัน ขีดทางช้างเผือกขึ้นมาขวางกั้นทั้งสองเอาไว้
เมื่อทั้งสองต้องแยกจากกัน โอริฮิเมะก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก จนไม่เป็นอันจะทอผ้าให้งดงามดังเดิมแถมยังหดหู่จนเจ้าผู้ครองสวรรค์เวทนาสงสาร จึงใจอ่อนยอมให้ทั้งสองได้พบกันปีละครั้ง ในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี แต่มีเงื่อนไขว่า ทั้งสองต้องกลับมาทำงานอย่างขยันขันแข็งเหมือนเดิม จึงทำให้ในทุก ๆ ปี เมื่อถึงวันที่ 7 เดือน 7 ทั้งสองจะมาเจอกันที่ทางช้างเผือก
ทั้งสองยังคงไม่สามารถข้ามทางช้างเผือกมาพบกันได้ ทำได้เพียงแค่เจอหน้ากันอยู่คนละฟากฝั่งของทางช้างเผือกเท่านั้น และแล้วก็มีฝูงนกกางเขนบินผ่านมาและได้ไถ่ถามทั้งสอง เมื่อฝูงนกกางเขนได้ทราบทุกอย่างแล้ว ก็เกิดความสงสารและต่อตัวกันเป็นสะพานนกกางเขน ทำให้โอริฮิเมะและฮิโกโบชิสามารถข้ามทางช้างเผือกมาพบกันได้ นกกางเขนสัญญาว่าจะมาเป็นสะพานให้ทั้งสองได้ข้ามมาพบกันทุกปี แต่หากปีใดเกิดฝนตกขึ้นมา ฝูงนกกางเขนก็จะไม่มา ทำให้ทั้งสองไม่มีสะพานข้ามไปพบกัน จึงต้องรอให้ถึงวันที่ 7 เดือน 7 ในปีถัดไป…