สถาบันยุวทัศน์ฯ-สสส. เปิดผลสำรวจเยาวชนต้องโทษคดียาเสพติด ชี้เยาวชนใช้บุหรี่เป็นสารเสพติดชนิดแรก ก่อนพัฒนาไปใช้ยาเสพติด และเป็นทั้งผู้ขายในที่สุด
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ต้นทางสู่ยาเสพติด” เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2566
โดยนายสุรเชษฐ์ โพธิ์แสง รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ได้รับความร่วมมือจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ในการเก็บข้อมูลพฤติกรรมทางสุขภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนก่อนต้องโทษคดียาเสพติด 300 คน อายุเฉลี่ย 17 ปี เป็นเพศชาย 289 คน เพศหญิง 11 คน พบเคยสูบบุหรี่มวน 95.4% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 84.5% และเคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3% ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 30.5%
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อจัดลำดับสารเสพติดที่ใช้ พบว่า 80.7% เริ่มใช้บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก ในจำนวนนี้ 76% พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่นๆ โดยยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดคือ ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน กัญชา กระท่อม 45.1% รองลงมาคือ ยาเสพติดประเภทกระตุ้นประสาท ยาบ้า (แอมเฟตามีน) ไอซ์ ยาอี 40.5% ยาเสพติดประเภทกดประสาท ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน สาระเหย 8.9% และยาเสพติดประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี (LSD) เห็ดขี้ควาย สารระเหย 5.5%
“ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนที่ต้องโทษคดีเกี่ยวกับยาเสพติด มีความสัมพันธ์กับบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และแอลกอฮอล์ มาอย่างต่อเนื่อง เด็กและเยาวชนที่เข้าถึงการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่อายุยังน้อย จะเปลี่ยนมาเป็นทั้งผู้เสพและผู้ขายยาเสพติดในอนาคตด้วย ทำให้การปราบปรามยาเสพติดอาจมีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องในโอกาสวันต่อต้านยาเสพติด ประจำปี 2566 นี้ จึงขอเรียกร้องไปยังทุกส่วนราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือปราบรามยาเสพติด ขอให้ทุกส่วนร่วมกันรณรงค์ป้องกันเด็กและเยาวชนเข้าถึงบุหรี่ทุกชนิด บังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น และที่สำคัญไม่ปรับแก้กฎหมายเพิ่มผลิตภัณฑ์เสพติดชนิดใหม่อย่างบุหรี่ไฟฟ้าด้วย” นายสุรเชษฐ์ กล่าว