อย. ร่วมตำรวจสอบสวนกลาง บุกทลายโรงงานเครือข่ายทุนจีน ลอบผลิต “สมุนไพรปลอม” ลวงขายนักท่องเที่ยวจีน

553

อย. ร่วมตำรวจสอบสวนกลาง บุกทลายโรงงานเครือข่ายทุนจีน ลอบผลิต “สมุนไพรปลอม” ลวงขายนักท่องเที่ยวจีน

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติ กรณีทลายเครือข่ายผู้ผลิต และจำหน่าย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ตรวจค้น 4 จุด ตรวจยึดของกลาง 112 รายการ รวมกว่า 90,000 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 4,000,000 บาท

FDm30R.jpg

สืบเนื่องจากปัจจุบันกระแสการรักสุขภาพส่งผลให้ความนิยมผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงขึ้นในประชาชนทั่วไป และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะในกลุ่มชาวจีน โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่จำหน่ายในท้องตลาดมีความหลากหลายและสามารถหาซื้อได้ง่าย จนอาจเป็นช่องว่างให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานกระจายสู่ตลาด เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีการเฝ้าระวังกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคผ่าน เพจเฟสบุ๊ค “ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค” ว่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาทิเช่น ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรไทยสยาม ,ยาหม่องสมุนไพรไทยสยาม ตราเสือสยาม 5 เศียร และยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์ เฮิร์บ บาล์ม ตราสมุนไพรไทยสยาม จากพื้นที่เขตห้วยขวาง และพบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์คนละแบบแต่มีเลขทะเบียนยาเดียวกัน จึงสงสัยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม หากใช้แล้วเกรงว่าจะได้รับอันตรายต่อร่างกาย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า มีการแอบอ้างนำเลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้ ซึ่งถือว่าเป็นการปลอมผลิตภัณฑ์ จึงได้สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิต โกดังเก็บสินค้า และแหล่งจัดจำหน่าย จนนำมาสู่การตรวจค้นในครั้งนี้

FDmhr8.jpg

ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นำหมายค้นเข้าทำการตรวจค้น สถานที่ผลิต โกดังเก็บสินค้า และสถานที่จำหน่าย ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และ จ.ปทุมธานี จำนวน 4 จุด

FDm4pa.jpg

โดยจากการตรวจค้นทั้ง 4 จุด พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นความผิด รวม 27 ยี่ห้อ ดังนี้

  1. ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรไทยสยาม (ปลอม)
  2. ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราหาญตำรับ (ปลอม)
  3. ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรบัวทอง (ปลอม)
  4. ยาหม่องสมุนไพรไทยสยาม ตราเสือสยาม 5 เศียร (ปลอม)
  5. ยาหม่องสมุนไพรไทย ตราเสือสยาม5ดาว (ปลอม)
  6. ยาหม่องเสือสยาม ตราสมุนไพรบัวทอง (ปลอม)
  7. ยาหม่องเสือสยาม ตราหาญตำรับ (ปลอม)
  8. ยาหม่องเสือสยาม PUREสมุนไพรธรรมชาติ (ปลอม)
  9. ยาหม่องสมุนไพร100ปี แซ่วู (ปลอม)
  10. ยาหม่องสมุนไพร รวม5ดาว สูตรร้อน(ปลอม)
  11. ยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์เฮิร์บ บาล์ม (ปลอม)
  12. ยาหอมชนะลม ตราเรือใบ (ปลอม)
  13. น้ำมันนวด กฤษณา ทิพย์มาตย์ ไม้หอมไทย
  14. น้ำมันนวด สมุนไพรสยาม ตราหนุมานหาว5ดาว (ปลอม)
  15. น้ำมันนวดผา (ปลอม)
  16. น้ำมันนวดสมุนไพร Herb
  17. น้ำมันนวดสมุนไพร ตราสมุนไพรไทยสยาม (ปลอม)
  18. น้ำมันนวดสมุนไพร สมุนไพรธรรมชาติ สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด
  19. น้ำมันนวดสมุนไพร ตราสมุนไพรบัวทอง สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด
  20. น้ำมันนวดสมุนไพร ตราหาญตำรับ สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด
  21. หัวน้ำมันสมุนไพรสกัดเย็น
  22. น้ำมันสมุนไพร ตราสมุนไพรบัวทอง
  23. ขี้ผึ้งสมุนไพรรวม ตราเสือ (ปลอม)
  24. ยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์เฮิร์บ บาล์ม (ปลอม)
  25. ยาสอดกระชับช่องคลอด บริสุทธิ์ (ปลอม)
  26. THONG TIGER Massage Palm ยานวดผ่อนคลาย (ปลอม)
  27. ยาหอมชนะลม ตราเรือใบ (ปลอม)

รวมตรวจค้น 4 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม 38 รายการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 จำนวน 42 รายการ เครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบที่ใช้ในการผลิตสมุนไพรปลอม และพยานหลักฐานอื่น 32 รายการ รวมทั้งสิ้น 112 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 4,000,000 บาท

จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า เครือข่ายการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมดังกล่าว มีกลุ่มทุนชาวจีนร่วมลงทุน โดยจ้างให้คนไทยเป็นผู้ผลิตเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งจะใช้เลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่น มาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ทำปลอมขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคที่ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของแท้ โดยจะผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรขึ้นให้มีคุณลักษณะตามที่นิยมในท้องตลาด โดยผสมส่วนผสมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จากนั้นบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์โดยใช้กำลังคน ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน และไม่ผ่านการรับรองจาก อย. จากนั้นส่งสินค้าไปยังร้านค้าที่เจ้าของเป็นคนจีน ในพื้นที่เขตห้วยขวาง และแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยจะมีมัคคุเทศก์มารับสินค้าไปหลอกลวงขายให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวจะไม่มีการวางจำหน่ายร้านค้าทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการ และการตรวจพบจากผู้รับอนุญาตเลขทะเบียนยาที่แท้จริง โดยจะขายส่งราคาชิ้นละ 20-30 บาท และมีการขายทำกำไรต่อในราคา หลักร้อย ถึงหลักพันบาท โดยเริ่มผลิตและจำหน่ายมาแล้วประมาณ 1 ปี

การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562

1.ฐาน “ร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม”ตามมาตรา 58(1) ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.ฐาน “ร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ฐาน “ร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ” ตามมาตรา 58(4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภก.วีระชัย  นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)
ที่สืบสวน ขยายผล จนสามารถตรวจยึด ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก

จากการจับกุมพบผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ลักลอบผลิต ปลอมโดยใช้เลขทะเบียนตำรับอื่นมาแสดงที่ฉลาก การผลิตไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจใช้ไม่ได้ผลในการรักษา อย. และ ปคบ.จะร่วมมือกันขยายผลจับกุมเครือข่ายผู้กระทำผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

FDmBNq.jpgFDmfUz.jpg