หมอเตือน “โรคโมโนนิวคลิโอซิส” พบบ่อยในเด็กวัยรุ่น 10-19 ปี ติดต่อผ่านการจูบ สัมผัสนํ้าลาย

2895

หมอเตือน “โรคโมโนนิวคลิโอซิส” พบบ่อยในเด็กวัยรุ่น 10-19 ปี ติดต่อผ่านการจูบ สัมผัสนํ้าลาย

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธโพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุถึงเคสผู้ป่วยหญิงอายุ 31 ปี ปกติแข็งแรงดี วันที่ 20 เมษายน 2566 เริ่มมีไข้สูง ปวดศีรษะ ไอแห้งๆ มาพบแพทย์หลังจากป่วย 4 วัน ตรวจร่างกายพบ ต่อมน้ำเหลืองรอบคอโตเล็กน้อย ไม่มีแผลในคอ ตับ ม้ามไม่โต เจาะเลือดพบเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำเล็กน้อย 3,670 (4,500-11,000) เกล็ดเลือดต่ำเล็กน้อย 131,000 (140,000-400,000) เอกซเรย์ปอดปกติ ส่งตรวจรหัสพันธุกรรมไม่พบไวรัสไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ไข้ซิกา ตรวจ PCR 22 สายพันธุ์ไม่พบไวรัสทางเดินหายใจ เจาะเลือดติดตาม พบเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์สูงขึ้น 65% (ปกติ 20-45%) และมีเอทิปปิเคิลลิมโฟไซต์ (atypical lymphocyte) 8%

10 วันหลังเริ่มป่วย ยังมีไข้ ปวดหัวลดลง แต่เริ่มเจ็บคอมาก มีแผลสีขาวที่บริเวณต่อมทอนซิลทั้ง 2 ข้างหลังจากเริ่มป่วย 2 สัปดาห์ (ดูรูป) เจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ EB ไวรัส Heterophile Antibody positive, EBV-VCA IgM positive, EBV-VCA IgG negative (VCA=viral capsid antigen)

วินิจฉัยเป็นโรค Infectious mononucleosis โมโนนิวคลิโอซิสจากการติดเชื้อ Epstein-Barr virus (EBV) ไวรัสเอ็ปสไตน์บาร์ (อีบีไวรัส) หรือ human herpesvirus-4 (HHV-4) ซึ่งจัดอยู่ในไวรัสกลุ่ม human herpesvirus

ผู้ป่วยรายนี้มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ไอแห้งๆ ต่อมน้ำเหลืองรอบคอโตเล็กน้อย 10 วันต่อมาเจ็บคอ และมีแผลสีขาวที่ต่อมทอนซิลทั้ง 2 ข้างยืนยันว่าเป็นโรคโมโนนิวคลิโอซิส ติดเชื้ออีบีไวรัส ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ heterophile antibody บวก และ EBV-specific antibody IgM บวก เป็นการติดเชื้อครั้งแรกแบบเฉียบพลัน ต้องใช้เวลา 3 สัปดาห์กว่าอาการไข้ ปวดหัว เจ็บคอ แผลในคอจะหายไป

โรคนี้พบบ่อยในเด็กวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ติดต่อผ่านทางการสัมผัสนํ้าลาย การจูบ และละอองเสมหะของผู้ที่มีเชื้อ (droplet transmission) คนไข้รายนี้ป่วยเป็นโรคโมโนนิวคลิโอซิสครั้งแรกเมื่ออายุ 31 ปี ถือว่าค่อนข้างช้า ไม่มีการรักษาจำเพาะ ส่วนใหญ่รักษาตามอาการ ในที่สุดหายเอง