ม.ราชภัฏเชียงใหม่ เตรียมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ “ครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่” ในปี พ.ศ. 2567

76

(1 พฤษภาคม 2566) รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี  มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นประธานการแถลงข่าว “ก้าวสู่ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่” ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรพงษ์  วัฒนกูล และผู้ช่วยศาสตราจารย์พรพิมล วงศ์สุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องสื่อสารมวลชน อาคารหอประชุม ทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

blank

รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของภาคเหนือ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2467 ในนาม “โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ” โดยมี เจ้าชื่น  สิโรรส เป็นครูใหญ่ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2503 ได้ยกฐานะเป็น “วิทยาลัยครูเชียงใหม่” เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาขั้นสูง (ป.กศ.สูง) และเปิดสอนในระดับปริญญาตรี มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2517 จากนั้นในปีพุทธศักราช 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” แทนคำว่า “วิทยาลัยครู” โดยมีตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 จวบจนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกา ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 มีผลให้ “สถาบันราชภัฏ” มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล และใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่” โดยกำหนดให้ วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย

blank

ในวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในปีพุทธศักราช 2567 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้เตรียมการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 1 – 5 พฤษภาคม 2567 ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมด้านการผลิตและพัฒนาครู กิจกรรมด้านวิจัยและวิชาการ กิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม กิจกรรมด้านการพัฒนาท้องถิ่น และการจัดงานคืนสู่เหย้าชาวดำ – เหลือง เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ราชภัฏเชียงใหม่

blank

รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรพงษ์  วัฒนกูล รองอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้มุ่งเน้น การวิจัยและพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวสู่ระดับสากลอย่างยั่งยืน โดยเน้น 2 กรอบหลักคือ งานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งไม่เน้นเฉพาะระดับอุดมศึกษา แต่เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกช่วงวัย และงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม โดยมีการดำเนินงานเพื่อการวิจัยและพัฒนารวมกว่า 1,984 โครงการ เฉลี่ยปีละกว่า 300 โครงการ เข้าไปพัฒนาพื้นที่ไม่น้อยกว่า 99 ตำบล พร้อมดำเนินการจดลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรไปแล้ว 78 ผลงาน และตั้งเป้าหมาย 100 ผลงาน ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ซึ่งเป็นผลงานที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ ขณะเดียวกันในด้านการเรียนรู้ได้มีการส่งเสริมให้นักศึกษาก้าวทันความเป็นสากล โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า 20 มหาวิทยาลัย

blank

ในโอกาสก้าวย่างครบรอบ 100 ปี และก้าวสู่ศตวรรษใหม่ของการพัฒนา การจัดกิจกรรมด้านวิจัย และวิชาการ จะได้แสดงถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัย อาทิ งานวิจัยพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาทักษะเดิม Reskill เพิ่มเติมทักษะใหม่ Upskill รวมถึงดำเนินการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เช่นโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing university) หรือโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มของ บริษัท ปตท. มหาชน จำกัด การพัฒนาชุมชน OGOP บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับสำนักงานสมเด็จพระราชินีประเทศภูฏาน หลักสูตรพัฒนาทักษะสำหรับนักศึกษา ศิษย์เก่าและประชาชนทุกช่วงวัยผ่านระบบออนไลน์ (Life Long Learning; http://lifelong.cmru.ac.th/)  การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษา บุตรของศิษย์เก่า และนักศึกษาในและต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ (Multicultural Scholarship) การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติของทุกคณะและหน่วยงานร่วมต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนนี้ถึงพฤษภาคม 2567 เช่นการประชุม “ล้านนาศึกษา” ของสาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ การประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 7 และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ในหัวข้อ Sustainable Community Development for the Next Century” โดยจะมีมหาวิทยาลัยไทยและจากทั่วโลกกว่า 20 มหาวิทยาลัยเข้าร่วมเสนอผลงาน การพัฒนาที่ยั่งยืนของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงการเชิญวิทยากรรับเชิญ (keynote speaker) ที่เป็นที่รู้จักในระดับสากลมาบรรยายในงาน ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรพิมล  วงศ์สุข รองอธิการบดี กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยการให้ความสำคัญต่อการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ เพื่อให้คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา นักเรียน และผู้สนใจ ได้ตระหนักในคุณค่าเกิดความสำนึกรัก และภาคภูมิใจในศิลปะวัฒนธรรม ทางคณะกรรมการดำเนินการจัดกิจกรรมฯ โดยมีสำนักศิลปะและวัฒนธรรม เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ได้เริ่มดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ปี 2566 ไปจนถึงปี 2567 ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญ ๆ อาทิ ข่วงผญาล้านนา : การสืบสานองค์ความรู้เรื่อง “กลองล้านนา” ซึ่งจะได้มีการจัดอบรม การประกวด และจัดทำสื่อการเรียนรู้ การมอบรางวัลเพชรราชภัฏ เพชรล้านนา รวมถึงการอภิปรายเชิงวิชาการความรู้ ด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา

และที่ขาดไม่ได้คือการจัดงานคืนสู่เหย้าชาวดำ – เหลือง เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ราชภัฏเชียงใหม่ ซึ่งจะได้ขึ้นเพื่อต้อนรับศิษย์เก่าวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กลับมาเยี่ยมชมสถานศึกษา ร่วมกันเฉลิมฉลอง และร่วมเป็นเครือข่ายในการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างแน่นแฟ้น ต่อไป