ครม. รับทราบแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2566 ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท

86

ครม. รับทราบแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2566 ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท

วันที่ 27 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย 1) แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน  1,052,785.47 ล้านบาท 2) แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท และ 3) แผนการชำระหนี้วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท  โดยประมาณร้อยละ 80 ของแผนการก่อหนี้ใหม่ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 เป็นเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อาทิเช่น คมนาคม การศึกษาและวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม สาธารณูปการ และสาธารณสุข เป็นต้น โดยเป็นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน

สำหรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2566  ประกอบด้วย  3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.  การก่อหนี้ใหม่  โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องคงค้างให้เพียงพอกับการเบิกจ่าย วงเงิน 45,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ กฟผ. วงเงิน 85,000 ล้านบาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน และการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกวงเงิน 16,210.90 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าระยะที่ 2 (กฟภ.) วงเงิน 13,438.31 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างพอเพียงโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตอน สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน วงเงิน 9,352.89 ล้านบาท เป็นต้น

2) การบริหารหนี้เดิม   ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และบริหารความเสี่ยงหนี้เดิม เช่น การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบ ฯ /เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้และการบริหารหนี้ ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2566  วงเงิน 854,354.16 ล้านบาท และที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ 67- 70 วงเงิน 225,000 ล้านบาท  การกู้เงินเพื่อชดเชยความเสียหายให้กองทุน FIDF  วงเงิน 202,663 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 วงเงิน 195,490.01 ล้านบาทเป็นต้น

3)  การชำระหนี้  ประกอบด้วยแผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบปี 66 วงเงิน 306,617.96 ล้านบาทและแผนการชำระหนี้จากและเงินอื่นๆวงเงิน 53,561.72 ล้านบาท

ในแผนงบ ฯ ปี 66 นี้ ครม. อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจจำนวน  4 แห่งได้แก่ ขสมก. รฟท. การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์จำกัด (ธพส.)  ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1    สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิมได้ ภายใต้แผนปีงบ ฯ  66 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ต้องรับความคิดเห็นของ คณะกรรมการบริหารหนี้ ฯ ไปดำเนินการด้วย เช่น ขสมก. และ รฟท.  ให้เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้และเพื่อทำให้ฐานะทางการเงินของหน่วยงานดีขึ้น  รวมทั้งให้รายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของรายงานต่อคณะกรรมการบริหารหนี้เพื่อทราบด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า  การจัดทำแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปี 2566 ในครั้งนี้ อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561  พ.ร.บ การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ พ.ศ.  2561 ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่า ประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบ ฯ 66  จะอยู่ที่ร้อยละ 60.43 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 70 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารหนี้ ฯ จัดทำแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี  สำหรับปีงบฯ 66- 70 เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารที่สาธารณะได้ระยะเวลา 5 ปีโดยมีโครงการลงทุนรวม 175 โครงการวงเงินลงทุนรวม 898,224.94 ล้านบาท โดยขอให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการและการลงทุนของโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการล่าช้าเพื่อเพิ่มการลงทุนของภาครัฐในระยะต่อไป