กรมควบคุมโรค เผยพบผู้ป่วยโควิดอายุ 105 ปี ไม่เคยฉีดวัคซีน ได้รับการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB จนหาย

871

กรมควบคุมโรค เผยพบผู้ป่วยโควิดอายุ 105 ปี ไม่เคยฉีดวัคซีน ได้รับการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB จนหาย

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการที่ ประเทศไทยได้จัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ให้ประชาชนกลุ่มที่มีความจำเป็นนับเป็นการยกระดับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 เพื่อดูแล ป้องกันสุขภาพของประชาชน  โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน กลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ  ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งกลุ่มนี้หากติดเชื้ออาจเสี่ยงเกิดอาการป่วยรุนแรงหรือมีโอกาสเสียชีวิตสูง ซึ่งการทำงานของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ที่ตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าคนทั่วไป เมื่อฉีดเข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดได้สูงทันทีภายหลังฉีด ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว ซึ่งในต่างประเทศมีการขึ้นทะเบียนใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ในการรักษาผู้ป่วยโควิดกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

ในประเทศไทย มีนำเข้าภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB และฉีดครั้งแรกให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 และส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565 กลุ่มเป้าหมายระยะแรกผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ  ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก โดยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการพิจารณาในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดด้วย LAAB หรือสามารถติดต่อเข้ารับการฉีดได้ที่สถานพยาบาล พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำรวจจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ ในสถานพยาบาลทุกสังกัด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับภูมิคุ้มกันจาก LAAB อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข กำลังพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และฉายแสง, ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง, ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยยากดภูมิ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำโรคอื่นๆ

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 พบผู้ป่วยโรคโควิด 19 รายหนึ่ง อายุ 105 ปี และยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด 19 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 โดยมีอาการไข้สูง มีเสมหะ ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ และต่อมามีปอดติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในวันแรก แต่เนื่องจากมีอายุมากเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แพทย์จึงพิจารณาให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB แก่ผู้ป่วยด้วยในวันที่ 4 กันยายน 2565 ร่วมกับยาปฏิชีวนะ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2565 อาการผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ อาการปอดติดเชื้อน้อยลง ไข้ลง ค่าออกซิเจนในเลือดกลับมาปกติ และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้วันที่ 14 กันยายน 2565 รวมระยะเวลาที่ใช้รักษาน้อยกว่า 2 สัปดาห์ โดยการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB น่าจะมีผลดีในการรักษาผู้ป่วยสูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังเน้นย้ำแนะนำให้ผู้สูงอายุทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็วก่อนจะเกิดการติดเชื้อ

ทั้งนี้ การป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคโควิด 19 สามารถปฏิบัติได้ตามมาตรการป้องกันโควิด 19 ขั้นสูงสุด 2U ได้แก่ Universal Prevention ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด และ Universal Vaccination คือ การฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ และผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วย ควรมารับเข็มกระตุ้น เมื่อรับเข็มสุดท้ายแล้วอย่างน้อย 4 เดือนขึ้นไป เพราะภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป หากติดเชื้อจะป่วยหนักได้ สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422