สธ.เผยยังไม่พบสัญญาณ “โควิด” กลายพันธุ์ผิดปกติ ขออย่าตื่นตระหนก ใช้ชีวิตโดยการป้องกันตนเองตามปกติ

124

กระทรวงสาธารณสุข แจง “โควิด” มีการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ ขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติจนต้องกังวล แนะใช้ชีวิตโดยป้องกันตนเองตามปกติและฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังเฝ้าระวังสายพันธุ์ร่วมกับทั่วโลกต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 14 กันายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ว่า ขณะนี้เชื้อโควิด 19 ของประเทศไทยยังเป็น “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย BA.5 โดยจากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา จำนวน 803 ราย พบ BA.5 จำนวน 688 ราย ส่วน BA.4 พบ 106 ราย และ BA.2.75 และลูกหลานรวม 9 ราย ซึ่งแนวโน้มสอดคล้องกับทั่วโลก คือ BA.5 ยังเพิ่มขึ้นเป็นสายพันธุ์หลัก ส่วน BA.4 ลดลง และ BA.2.75 และลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ การกลายพันธุ์เป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัส เช่น BA.2.75.2 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.2.75 ที่มีการการพันธุ์ตำแหน่ง R346T และ F486S  ส่วนที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า BA.2.75.2 เพิ่มจำนวนเร็วกว่า BA.5 ถึง 114% เป็นเพียงการสันนิษฐานจากการทำแบบจำลอง ซึ่งต้องประเมินพิสูจน์จากสถานการณ์จริงอีกครั้ง

blank

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบ BA.2.75 และลูกหลาน 9 ราย และรายงานเข้าสู่ฐานข้อมูลโลก GISAID แล้ว โดยเป็น BA.2.75 จำนวน 6 ราย และสายพันธุ์ย่อย 3 ราย คือ BA.2.75.1 , BA.2.75.2 และ BA.2.75.3 ซึ่งแต่ละรายมีอาการไม่มากและรักษาหายแล้ว ส่วนกรณีการเผยแพร่ข้อมูลสายพันธุ์ BJ.1 ข้อเท็จจริงไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ แต่เป็นการเรียกชื่อของ BA.2.10.1 ซึ่งมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติม การเรียกชื่อโดยเติมจุดเพิ่มจะเรียกยาก จึงเรียกรวบเป็น BJ ถือเป็นลูกหลานของ BA.2

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับเครือข่ายการตรวจสายพันธุ์ทั่วโลก เฝ้าระวังการกลายพันธุ์และรายงานต่อ GISAID อย่างต่อเนื่อง หากพบสัญญาณว่าตัวใดมีปัญหาจะจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณการกลายพันธุ์ที่ต้องกังวล ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ มาตรการฉีดวัคซีนและการป้องกันตนเอง ทั้งใส่หน้ากากล้างมือ และเว้นระยะห่าง ยังใช้รับมือการแพร่ระบาดได้ทุกสายพันธุ์” นพ.ศุภกิจกล่าว