ตำรวจเดินหน้าปราบ “แก๊งเงินกู้นอกระบบ” ชี้การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย การปล่อยกู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต มีโทษหนักถึงจำคุก

486

ตำรวจเดินหน้าปราบ “แก๊งเงินกู้นอกระบบ” ชี้การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย การปล่อยกู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต มีโทษหนักถึงจำคุก

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 65 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเตือนภัยการกู้เงินนอกระบบ โดยปัจจุบันยังคงอยู่ในห้วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนบางส่วน จึงมีความจำเป็นต้องไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งก็มีเหล่ามิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสนี้ แฝงตัวมาในรูปแบบของแหล่งเงินกู้นอกระบบและได้กระทำความผิดรูปแบบต่าง ๆ โดยการกระทำความผิดที่พบคือการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราและการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในรูปแบบต่าง ๆ ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดให้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน สร้างการรับรู้แนวทางป้องกันและหากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมาย

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุทิน ทรัยพ์พ่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) สั่งการไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) และหน่วยงานอื่น ๆ ในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เร่งทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ รวมถึงนายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายอย่างจริงจังต่อเนื่องเด็ดขาด เพื่อให้ได้ผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

ดังเช่นกรณีที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ ได้นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ อ.เมือง จว.ลำพูน โดยลูกหนี้รายหนึ่งซึ่งมีอาชีพค้าขายในตลาดแห่งหนึ่งได้ไปกู้เงินนอกระบบจากเจ้าหนี้หลายเจ้า รวมเงินต้นประมาณ 12,000 บาท ต่อมาได้มีคนมาติดตามทวงหนี้ที่บ้าน เกิดเหตุหลายครั้ง มีการพูดจาข่มขู่และปาของเข้าไปในบ้านทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ สอบปากคำพยานและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

โดยต่อมาในที่ 23 กรกฎาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวผู้ต้องหาที่ร่วมก่อเหตุในคดีนี้ได้แล้วจำนวน 1ราย ส่วนอีก 1 ราย อยู่ระหว่างหลบหนี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดลำพูน ในข้อหา ร่วมกันทวงถามหนี้ลักษณะข่มขู่ลูกหนี้หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่นฯ และได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย โดยหากมีการทวงหนี้โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฯ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาดูหมิ่นหรือการเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1 – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000 – 500,000.-บาทและการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000.-บาท และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติของ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตารวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 มิถุนายน 2565 มีการแจ้งการกระทำความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบกว่า 1,664 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 1,446 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 86 อยู่ระหว่างดำเนินการ 218 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14 โดยการกระทำความผิดที่ได้รับแจ้งมากที่สุด 3 อันดับ คือ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา, การปล่อยกู้ออนไลน์ และการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดําเนินการสืบสวนสอบสวน จับกุมผู้กระทําความผิดต่อไป

รวมถึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกทวงหนี้นอกระบบด้วยรูปแบบต่าง ๆ และแนวทางการป้องกัน ดังนี้

1. หากถูกแก๊งทวงหนี้ แอบอ้าง ข่มขู่ ควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบหรือให้ความช่วยเหลือ

2. ทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง

3.หากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้

นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง