เงินเฟ้อพุ่ง 5.28% กระทบชีวิตยังไงบ้าง?

148

68477b6146614df831111adf1098e7d1.jpg

เงินเฟ้อคือ ราคาสินค้าแพงขึ้น หากมีเงินเท่าเดิม จะซื้อสินค้าได้น้อยลง ถ้าเราต้องการซื้อสินค้าได้เท่าเดิม ต้องใช้เงินมากขึ้น ตัวอย่างเช่น

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน หากเรามีเงิน 80 บาท จะซื้อข้าวกะเพราไข่ดาวได้ 2 จาน

แต่ปัจจุบัน หากมีเงิน 80 บาท จะซื้อข้าวกะเพราไข่ดาวได้แค่จานเดียวเท่านั้น

ซึ่งสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ

1. ความต้องการซื้อ (Demand – Pull Inflation) หากประชาชนมีความต้องการซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ เพิ่มขึ้นแต่สินค้าและบริการนั้น ๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น

2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost- Push Inflation) คือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย

ถ้าเงินเฟ้อนิดหน่อย ๆ ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตมีการลงทุนขยายการผลิต และมีการจ้างงาน เพื่อที่จะผลิตสินค้าและบริการให้เพียงพอต่อความต้องการของการตลาด ซึ่งทำให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัวได้ดี แต่ถ้าเงินเฟ้อเกิดเพิ่มขึ้นเร็วมากจนเกินไป อย่างที่เกิดขึ้นในเดือน ก.พ.65 ที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 5.28% จะส่งผลกระทบ ดังนี้

  • ประชาชนมีรายจ่ายหรือค่าครองชีพสูงขึ้น เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ทำให้ซื้อสินค้าได้น้อยลง และอาจกระทบถึงมีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต
  • หากใครที่เก็บเงินไว้แล้วไม่นำไปลงทุนให้เกิดมูลค่าเพิ่มก็จะทำให้เงินนั้นมีมูลค่าน้อยลง
  • เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดขายก็จะลดลง ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการลงทุนและการจ้างงาน ทำให้คนตกงานมากขึ้น
  • ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของเราจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่นๆ
  • ในภาวะที่ประชาชนซื้อของน้อยลง ธุรกิจไม่สามารถขายของได้ การลงทุนเพื่อผลิตสินค้าก็จะชะลอออกไป ทำให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตามไปด้วย

เราสามารถเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อได้ด้วย “การลงทุน” เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ


ที่มา : www.finspace.co

ณัฐกานต์ จี๋แปง (นักศึกษาฝึกประสบการณ์)