รมช.สาธารณสุข เผย 7 ทิศทางนโยบายเพื่อเดินหน้า “โควิด” สู่โรคประจำถิ่น

70

รมช.สาธารณสุข เผย 7 ทิศทางนโยบายเพื่อเดินหน้า “โควิด” สู่โรคประจำถิ่น

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และบรรยายพิเศษ “ทิศทางและนโยบายภาครัฐ หลังการประกาศโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น” ว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์โรคโควิด 19 ได้อย่างดี ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมมือของโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 19 ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงระยะทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง ทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยในโรงพยาบาล และผู้เสียชีวิต สำหรับการเดินหน้าสู่โรประจำถิ่นนั้น แม้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจนและยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องการกลายพันธุ์ แต่จากการติดตามยังเป็นการกลายพันธุ์ย่อยที่ไม่มีผลเรื่องความรุนแรงและการแพร่ที่รวดเร็ว ส่วนประเทศไทยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหากดำเนินการได้ตามนั้นก็พร้อมที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายคือช่วงกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป

ดร.สาธิตกล่าวว่า สำหรับทิศทางและนโยบายด้านสุขภาพเพื่อเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น สอดคล้องกับข้อเสนอขององค์การอนามัยโลกที่มาจัดกิจกรรมทบทวนการเตรียมความพร้อมในภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า กรณีโควิด 19 ของประเทศไทย ซึ่งมี 7 เรื่อง ได้แก่ 1.การเพิ่มการลงทุนเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาเรามีไทยชนะ หมอชนะ รวมถึง “หมอพร้อม” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหญ่อันดับ 2 ของประเทศรองจากเป๋าตัง มีข้อมูลมากกว่า 25 ล้านการลงทะเบียน นอกจากนี้ ครม.กำลังหารือทำแพลตฟอร์มแห่งชาติ ภายใต้กรอบวงเงินอนุมัติ 7 พันล้านบาท เพื่อทำข้อมูลกลางที่มีความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล 2.การเตรียมพร้อมรับมือการระบาดครั้งต่อไปและพัฒนาบุคลากรสหสาขา ทั้งโรคทั่วไป โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ภาวะลองโควิดและมิสซี 3.การดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงการรักษาตามสิทธิ 4.ยกระดับการพึ่งพาตนเองด้านยา วัคซีน ชุดตรวจ และเวชภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้ไทยมีวัคซีน 3 ตัวที่ก้าวหน้าคือ วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม วัคซีนใบยา และวัคซีนของจุฬาฯ 5.การจัดการขยะทางการแพทย์หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมามีการปลดล็อกกฎหมายให้เตาเผาขยะนิคมอุตสาหกรรมใช้เผาขยะติดเชื้อได้ชั่วคราว  6.พัฒนากลยุทธ์การบูรณาการข้อมูล ซึ่ง ศบค.มีการรวบรวมข้อมูลหน่วยงานต่างๆ นำมาสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน และ 7.การค้นหา บันทึก และเผยแพร่ตัวอย่างที่ดี รวมทั้งบทเรียนสำคัญในการจัดการกับภาวะระบาดใหญ่

“เมื่อโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น จะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ สร้างงาน และประเทศจะมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้น ส่วนจะผ่อนคลายมาตรการและการปฏิบัติตัว เช่น การถอดหน้ากากอนามัย ขึ้นอยู่กับพื้นที่และสถานการณ์ หัวใจสำคัญคือ ต้องก้าวข้าม อยู่กับโควิดอย่างเข้าใจ รู้เท่าทัน และเดินหน้าเศรษฐกิจให้ได้” ดร.สาธิตกล่าว