แพ้อาหาร แต่ทนทานต่อไปจะมีโอกาสหายเองได้จริงหรือไม่?

533

แพ้อาหาร คืออะไร?

        “ภาวะแพ้อาหาร” หมายถึง อาการไม่พึงประสงค์ที่แสดงออกทางร่างกาย อันเกิดจากภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่ออาหารชนิดนั้นๆ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการซ้ำๆได้ หากได้รับอาหารที่แพ้ชนิดเดิม

ผู้แพ้อาหารมีมากน้อยเพียงใด?

        การแพ้อาหารนั้นเราไม่ค่อยทราบอุบัติการที่แท้จริง เพราะอาการอาจไม่รุนแรง และหายไปได้เอง ผู้ป่วยอาจไม่ไปหาแพทย์ หรืออาการแพ้อาหารอาจไม่ได้แสดงอาการทางระบบทางเดินอาหาร อาจแสดงระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไหล หอบหืด ทำให้เข้าใจผิดว่าแพ้สารที่เกิดจากการสูดดม เป็นต้น อย่างไรก็ตามในเด็กพบอาการแพ้จากอาหารมากกว่าในผู้ใหญ่ เช่น การแพ้นมวัว ซึ่งรายงานแตกต่างกันในอุบัติการ พบตั้งแต่ 0.1-8% ของเด็กที่ดื่มนมวัว นอกจากนั้น ยังพบว่าโรคภูมิแพ้ในเด็ก เช่น ผื่นแพ้เอ็กซิมา, หืด หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ในเด็กต่ำกว่า 2 ปี มีสาเหตุจากอาหารถึงร้อยละ 80% เมื่อใดขึ้นถึงอายุ 4 ปี สาเหตุจากอาหารอาจพอๆ กับสารก่อภูมิแพ้จากการสูดดมและเมื่อ อายุ 8 ปี จะมีสาเหตุจากอาหารเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น

         สาเหตุที่เด็กเล็กๆ แพ้อาหารง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะสาเหตุที่ว่าเด็กยังมีภูมิ คุ้มกันในลำไส้ยังไม่ดีพอ ทำให้อาหารที่ก่อภูมิแพ้ง่ายมีการดูดซึมเข้าร่างกายได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นระบบการย่อยยังไม่ดี จึงมีการดูดซึมสารที่ถูกย่อยยังไม่สมมูรณ์เข้าร่างกายมาก สาเหตุสองประเภทนี้ทำให้เด็กเกิดอาการแพ้อาหารมากกว่าผู้ใหญ่

ทำไมผู้ป่วยจึงเกิดอาการเเพ้อาหาร?

        การแพ้อาหารก็คล้ายกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ ผู้ป่วยอาจมีกรรมพันธุ์ของโรคภูมิแพ้ ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสแพ้ได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นการได้รับอาหารชนิดนั้นบ่อยๆ ก็มีโอกาสกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิแพ้ต่ออาหารชนิดนั้นมากขึ้น ผู้ป่วยมักจะถามแพทย์เสมอว่าเหตุใดอาหารที่เคยรับประทานอยู่ โดยไม่มีอาการแพ้มานาน เหตุใดจึงเกิดแพ้ขึ้น ก็เพราะอาหารนั้นไปกระตุ้นระบบอิมมูนของผู้ป่วยให้สร้างภูมิแพ้ขึ้น ซึ่งเป็น IgE ซึ่งจะไปจับกับเซลล์บางชนิด เช่น เซลล์มาสต์ ซึ่งมีอยู่ในลำไส้ ผิวหนัง เยื่อบุจมูก หลอดลม ฯลฯ เมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นเข้าไปอีกจึงเกิดปฏิกิริยา

อาหารอะไรที่พบเป็นสาเหตุบ่อยๆ?

         อาหารทุกชนิดสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ทั้งสิ้น แต่อาหารบางชนิดเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ พวกโปรตีน ส่วนอาหารแป้งและไขมันเป็นสาเหตุได้น้อยกว่า อาหารที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยๆ ได้แก่ นมวัว ไข่ อาหารทะเล ถั่ว เนื้อวัว ข้าวสาลี ชอกโกแลต ข้าวโพด มะเขือเทศ สุรา เบียร์ ผลไม้ก็พบได้ เช่น ส้ม สตรอเบอรี่ เงาะ ทุเรียน อาหารดิบๆ สุกๆ ก่อ ให้เกิดการแพ้ได้ง่ายกว่าอาหารที่ทำสุกแล้ว

รายละเอียดของอาหารที่แพ้ได้แก่…

1.นมวัว

นมเป็นอาหารที่สำคัญที่สุดในเด็กเล็ก นมแม่จะไม่ก่อให้เกิดการแพ้ แต่ในปัจจุบันแม่บางคนมีความจำเป็นต้องให้นมผสม จึงพบการแพ้ได้บ้าง สารในนมวัวมีอยู่มากมายกว่า 20 ชนิด แต่สารที่ก่อให้เกิดการแพ้ได้มี 5 ชนิด 3 ชนิดถูกทำลายด้วยความร้อน อีก 2 ชนิดไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน สารสำคัญ เรียก Beta lactoglobulin ดังนั้นการที่นำนมวัวมาต้ม อาจทำให้คนที่แพ้สารที่ถูกทำลายด้วยความร้อนไม่มีอาการเวลาดื่มนมต้ม แต่คนที่แพ้สารที่ทนความร้อน อาจยังมีอาการแพ้อยู่ โดยทั่วไปแล้วคนที่แพ้นมวัวมักไม่แพ้เนื้อวัว และสามารถรับประทานเนื้อวัวโดยไม่มีอาการแพ้ แต่การแพ้นมวัวมักแพ้นมแพะ เพราะมีสารก่อภูมิแพ้คล้ายกัน คนที่แพ้เพนิซิลลิน เวลาดื่มนมวัวสด ซึ่งมักใส่ยานี้เป็นตัวฆ่าเชื้ออาจเกิดอาการแพ้ เช่น เกิดลมพิษขึ้น หรืออาการอื่นๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าแพ้นมได้

2.ไข่

ไข่ก็คล้ายนมเป็นอาหารที่สำคัญในการทำให้ร่างกายเจริญเติบโตแต่ก็ เป็นสาเหตุที่สำคัญของอาการแพ้ ส่วนสำคัญคือ Ovalbumin ซึ่งอยู่ในไข่ขาวซึ่งสารก่อภูมิแพ้ในไข่ขาวจะทนต่อความร้อน คนแพ้ไข่ไก่มักจะไม่แพ้เนื้อไก่ หรือขนไก่ แต่ต้องระวังการฉีดวัคซีนบางชนิดที่เพาะเลี้ยงในไข่ อาจก่อให้เกิด ปฏิกิริยาได้เวลาฉีดวัคซีน

3.อาหารทะเล

การแพ้อาหารทะเลมักเกิดอาการเร็วหลังรับประทาน ทำให้ สังเกตุได้ง่าย ปลามีสารก่อภูมิแพ้ที่ทนต่อความร้อน ดังนั้นปลาแม้แต่ทำสุกแล้ว มักยังมีอาการแพ้อยู่ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้แพ้จะแพ้ปลาทุกชนิด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งอาจแพ้เฉพาะปลาชนิดหนึ่งชนิดใด การแพ้กุ้ง หอย หรือปูก็เช่นกัน บางคนแพ้เฉพาะกุ้งหรือปูเท่านั้น นอกจากนั้นบางคนก็แพ้แต่กุ้งน้ำจืด หรือกุ้งนํ้าเค็มเท่านั้น บางคนแพ้อาหารทะเลเกือบทุกอย่าง

4.อาหารพวกถั่ว

ถั่วมีหลายชนิด บางชนิดอาจมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ถั่วที่เเพ้ง่ายและมีอาการรุนแรง ได้แก่ถั่วลิสง ส่วนมะม่วงหิมพานต์อาจแพ้รุนแรงได้ เคยมีรายงานแพ้มากถึงช็อคก็มี สำหรับถั่วเหลืองก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อย เเละมักนำมาผลิตเป็นนมถั่วเหลืองใช้แทนนมวัว ในเด็กที่มีอาการแพ้นมวัว และการก่อภูมิแพ้ในถั่วเหลืองมักถูกทำลายโดยความร้อน

5.ข้าวสาลี

ซึ่งใช้ทำอาหารหลายชนิด เช่น บะหมี่ ขนมปัง ฯลฯ ก่อให้เกิดการแพ้ได้บ่อย โดยเฉพาะพวกฝรั่งกินขนมปังเป็นประจำ ในคนไทยพบได้บ้าง เเละบางรายอาการรุนแรง

6.แอลกอฮอล์ พวกเหล้า เบียร์

อาจเป็นสาเหตุของการแพ้ได้ ซึ่งอาจแสดง อาการทางระบบทางเดินอาหาร ระบบการหายใจ หรือเป็นผื่น ที่พบบ่อยคือ ท้องเสีย ลมพิษ ซึ่งอาจแพ้ตัวอัลกอฮอล์เอง หรือสี หรือสารที่ใส่แต่งรส หรือ การถนอม การแพ้มักสังเกตได้ง่ายจากผู้ป่วยเอง

7.สีประกอบอาหารหรือขนม

สีอาจเป็นสาเหตุการแพ้ได้มาก แต่คนทั่วไปมักไม่ทราบจึงไม่ได้สังเกต สีที่แพ้ง่ายคือสีเหลือง สีเขียว ได้แก่สีพวก Tartrazine หรือ Yellow dye no.5) ซึ่งมักใช้แต่งสีขนม เช่น ฝอยทองกรอบ สลิ่ม ถั่วกวน วุ้นกรอบ อมยิ้ม ชาจีน ขนมชั้น เป็นต้น บางคนมีอาการรุนแรง หลังรับประทานอาหารหรืออาจเป็นลมพิษเรื้อรัง การแพ้สีพวกนี้มีความสัมพันธ์กับการแพ้ยาพวกแอสไพริน หรือแก้ปวด หรือลดอาการอักเสบบางชนิด เช่น Indomethacin, Aminopyrine, Phenylbutazone, Ibuprofen และ Fenoprofen คนแพ้ยาพวกนี้เวลารับประทานอาหารที่ใส่สีนี้อาจเกิดอาการหอบรุนแรงได้ หรือลมพิษเรื้อรัง

8.ผักและผลไม้

ผักและผลไม้บางชนิดมีสารพวกซาลิซิย์เลต เช่น แอปเปิล แตงกวา แตงโม มะนาว ส้ม พรุน อาจก่อให้เกิดการแพ้ในผู้ป่วยบางรายได้ ส่วนสตรอเบอรี่นั้น สามารถหลั่งฮีสตามีนได้โดยตรงอาจทำให้เกิดลมพิษได้ นอกจากนั้น ทุเรียน เงาะ ก็พบเป็นสาเหตุได้เช่นกัน

อาการที่เกิดจากแพ้อาหารมีอะไรบ้าง?

         อาการที่เกิดจากการแพ้อาหารอาจแสดงทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย หรือแสดงอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด นํ้ามูกไหลเรื้อรัง หรือแสดงทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ ผื่นแพ้เอ็กซิมาเห่อขึ้น ผู้ป่วยบางรายมีอาการเกิดขึ้นช้าและแสดงออกทางจิตประสาท เช่น หงุดหงิด งุ่นง่าน มึน ปวดศีรษะ อาจแสดงโดยมีการปวดศีรษะข้างเดียว เป็น “ไมเกรน” ก็ได้ ผู้ป่วยบางรายมีอาการมาก อาจเกิดอาการช็อคหายใจไม่ออก บางครั้งถึงกับเสียชีวิตได้

24b83cb8fb96b2f24858d5c5d4afb7d3.jpg

แพ้อาหาร หายได้หรือไม่?

          ถึงแม้ผู้ป่วยแพ้อาหาร อาจแสดงอาการที่ฉับพลัน อาจมีอาการที่รุนแรง หรือเรื้อรังยาวนาน รบกวนคุณภาพชีวิต แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เมื่อโตขึ้น โดยโอกาสหายจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน และขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารที่แพ้ด้วย อาทิเช่น ผู้ป่วยที่แพ้นมวัว มีโอกาสหายได้ถึง 70-90%

     *** ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องว่ามีภาวะแพ้ต่ออาหารชนิดใดบ้าง เพื่อการหลีกเลี่ยงอาหารได้อย่างเหมาะสม ไม่หลีกเลี่ยงมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ผู้ป่วยควรได้รับการประเมินภูมิคุ้มกันต่ออาหาร(โดยการสะกิดผิว และ/หรือ การตรวจเลือด) เป็นระยะๆ และทดสอบการแพ้อาหารภายใต้การดูแลของแพทย์ จนกว่าผู้ป่วยจะหายแพ้ หรือมีอาการที่ดีขึ้น..

การป้องกัน

        การป้องกันอาจทำได้โดยพยายามให้ทารกแรกคลอดดื่มนมแม่ และหลีก เลี่ยงนมวัว ในเด็กที่คลอดจากพ่อแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรให้นมแม่ให้นานที่สุด เช่นถึง 6 เดือน โดยพยายามให้อาหารเสริมช้ากว่าเด็กทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไข่ ปลา อาหารประเภทถั่ว อาหารพวกส้ม มะนาว และควรให้มารดางดอาหารดังกล่าวด้วย เพราะสามารถผ่านทางนํ้านมสู่ลูกได้

แพ้อาหาร แต่ทนทานต่อไปจนกว่าจะเลิกแพ้ ได้หรือไม่?

         สำหรับเด็กจะพบอาการแพ้อาหารได้หลายชนิดกว่าผู้ใหญ่ และมีโอกาสที่จะมีอาการดีขึ้นได้เมื่อโตขึ้น กล่าวคือ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่มีอาการแพ้อาหารประเภทนม ไข่ และข้าวสาลี อาจมีอาการที่ดีขึ้นได้เมื่ออายุโตขึ้น จากพัฒนาการทางร่างกายที่ค่อยๆ พัฒนาจนเต็มที่

        แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอาการแพ้อาหารประเภทถั่ว และอาหารทะเล มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีอาการแพ้ไปตลอดชีวิต บางท่านเลือกที่จะค่อยๆ ทานต่อไปทีละเล็กทีละน้อย ด้วยความเชื่อว่าร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัวจนชิน วิธีนี้อาจได้ผลเฉพาะกับบางคนที่มีอาการแพ้ที่ไม่รุนแรงเท่านั้น เพราะหากคุณเป็นคนที่มีอาการแพ้รุนแรง ถึงขั้นหายใจไม่ออก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ร่างกายสูบฉีดโลหิตเร็วและรุนแรง คุณอาจช็อค หมดสติ หรือเสียชีวิตเพียงเพราะอาหารคำเดียวได้เช่นกัน

         นอกจากนี้ สำหรับอาการแพ้อาหารบางประเภท ที่เกิดจากร่างกายผิดปกติ ไม่มีตัวย่อยสารอาหารบางประเภทตั้งแต่แรกเกิด เช่น โปรตีน หรือกลูเต็นในแป้ง วิธีนี้อาจไม่ได้ผล และทำให้อาการแย่ไปกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการแพ้ที่เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองจากผนังลำไส้ ในผู้ป่วยบางราย เมื่อไม่ได้ทานอาหารที่มีอาการแพ้ไปนานๆ 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย เมื่อลองกลับมาทานใหม่ (ในปริมาณเล็กน้อย) อาจรู้สึกว่าไม่มีอาการแพ้ใดๆ เกิดขึ้น หรือบางคนได้รับยาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายปรับสภาพให้คุ้นชินกับอาหารเหล่านั้นได้ก็มีเช่นกัน

 

ที่มา : บทความการดูแลสุขภาพ และเคล็ดลับเพื่อสุขภาพดี , Siamhealth

ที่มา : กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน รพ.สินแพทย์ เทพารักษ์

 

 

พรสวรรค์ ชาติมนตรี (นักศึกษาฝึกประสบการณ์)