เชียงใหม่ พิจารณาเลือกพื้นที่ “ตำบลแม่แฝก” ขับเคลื่อนพัฒนาให้เป็นพื้นที่นำร่องเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

1014

จังหวัดเชียงใหม่ พิจารณาเลือกพื้นที่ตำบลแม่แฝก ขับเคลื่อนพัฒนาให้เป็นพื้นที่นำร่องเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่วางเป้าหมายให้มี “เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม” 39 จังหวัด 53 พื้นที่ ภายในปี 2579

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 65 นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตามแนวทางของคณะรัฐมนตรีที่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเทศไทยมีต้นแบบ “เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม” คือเป็นเมืองต้นแบบมีเศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี สังคมมีความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความสุขและอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน รวมจำนวน 39 จังหวัด 53 พื้นที่ ภายในปี 2579

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเลือก “พื้นที่ตำบลแม่แฝก” อำเภอสันทราย จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ด้วยมีศักยภาพตามเกณฑ์ 4 ด้านมากที่สุด คือ จำนวนโรงงานในพื้นที่ จำนวนโรงงานที่มีเงินลงทุน 30 ล้านบาทขึ้นไป มีโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) และมีมลพิษจากการประกอบกิจการ ในด้าน น้ำ อากาศ กลิ่น เสียง และกากอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งจะได้รับการพัฒนา แก้ปัญหาให้อยู่กับชุมชนตามหลักการ “เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม” ได้

โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ 1.ด้านสิ่งแวดล้อม สามารถลดการใช้ทรัพยากร/เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดการเกิดของเสียและมลภาวะ ลดปริมาณกากของเสียที่นำไปฝังกลบ ประหยัด/อนุรักษ์พลังงาน ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ 2.ด้านชุมชนและสังคม เกิดการขยายโอกาสทางธุรกิจในท้องถิ่น เพิ่มโอกาสให้ชุมชนมีงานทำมากขึ้น เพิ่มโอกาสทางอาชีพและการศึกษา สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้มากขึ้น ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีต่อชุมชน ประชาชนมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี สร้างความตระหนักให้โรงงานมีความรับผิดชอบและจิตสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม เกิดความภาคภูมิใจของชุมชน และ 3.ด้านโรงงานและเศรษฐกิจ สามารถลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้ธุรกิจ มีโอกาสในการขยายตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์พลอยได้และของเสียต่าง ๆ พนักงานมีสุขภาพดีและมีความสุขในการทำงานมากขึ้น มีส่วนร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมภาพพจน์ของบริษัท และเกิดความร่วมมือกันระหว่างโรงงานในพื้นที่

ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่