(มีคลิป Video) เปิดคลิป “กะเพราอวกาศ” ลอยสูง 35 กิโลเมตรเหนือชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์

2668

(มีคลิป Video) เปิดคลิป “กะเพราอวกาศ” ลอยสูง 35 กิโลเมตรเหนือชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์

ผัดกะเพราอาหารไทยขึ้นชื่อแม้ชาวต่างชาติยังรู้จัก มาวันนี้กลายเป็นเมนูอาหารไทยแรกๆที่ขึ้นไปแตะเกือบถึงขอบอวกาศเป็นที่เรียบร้อย แต่สิ่งที่เราได้มากกว่านั้นก็คือโอกาสของนักวิจัยไทยและการริเริ่มสู่ความเท่าเทียมในการทดลองห้วงอากาศสูง เติมเต็มแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศของประเทศไทยให้ครอบคลุมทั้งภาคพื้นดิน ภาคอากาศ และภาคอวกาศหรือบนสถานีอวกาศนานาชาติให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาแล้วในวันนี้ อีกทั้งให้ความสำคัญสำหรับการต่อยอดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต

การส่งบอลลูนขนาดใหญ่น้ำหนักประมาณ 1,600 กรัม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้นำอาหารเมนูคุ้นเคยของคนไทยทะยานขึ้นสู่ห้วงอากาศจนไปถึงความสูงประมาณ 35 กิโลเมตรเหนือพื้นโลกหรือชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ตามที่ตั้งเป้าไว้ (เครื่องบินพานิชย์บินที่ความสูงประมาณ 10-12 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก) หลังจากนั้นบอลลูนได้เกิดการระเบิดเพราะทนรับสภาพความแตกต่างของแรงดันไม่ไหวและได้ร่วงลงสู่พื้นโลกในเวลาต่อมา

df07d244a1007c0f0c4fcefc159f3e0f.jpg

แม้ทุกอย่างดูเหมือนจะเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว แต่ทว่าประสบการณ์ของทีมงานในการเตรียมงานในรายละเอียดมาแรมปี นับตั้งแต่เริ่มต้นเจรจา ออกแบบ สรรหาและตั้งค่าอุปกรณ์ที่จะทำให้ภารกิจบรรลุตามวัตถุประสงค์ การคัดสรรสถานที่ปล่อย รวมถึงการปฎิบัติตามกฎหมายเพื่อป้องกันอันตรายต่ออากาศยานอื่นๆ รายละเอียดเหล่านี้จะถูกนำมาหลอมรวมก่อให้เกิดต้นแบบของการสนับสนุนการทดลองและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์อวกาศโดยภาครัฐในอนาคตเพื่อโอกาสในการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือที่เรียกว่า แพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงด้วยบอลลูน (High-Altitude Experiment Platform)

d77498c1a8f77e4731fec0f8fce65807.jpg

แพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงสำคัญอย่างไร

แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศ (Space Experiment Platform) ของประเทศไทยที่ริเริ่มโดย GISTDA ภายใต้โครงการ National Space Exploration (NSE) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เพื่อสนับสนุนการทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศให้แก่นักวิจัยไทย อาทิ การทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศบนภาคพื้นดิน มีห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Micro-X) คอยให้บริการ ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และสำหรับการทดลองในภาคอวกาศจะเป็นการบริการส่งงานวิจัยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

หนึ่งในความสำเร็จของการพัฒนาแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศสำหรับประเทศไทยนั้นก็คือ การบริการส่งการทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรียขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อให้เกิดการตกผลึกบนอวกาศและนำกลับลงมาวิจัยพัฒนาบนโลกเพื่อเป็นยาต้านมาลาเรีย ซึ่งเป็นโครงการร่วมกันระหว่าง GISTDA สวทช. ไบโอเทค และองค์กรอวกาศแห่งญี่ปุ่น (JAXA) ปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งต้องผ่านการเตรียมการ ประสานงาน และสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญแพลตฟอร์มเหล่านี้จะช่วยลดขั้นตอนการเตรียมงานให้กับทางกลุ่มนักวิจัยได้มาก

จะเห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยโดย GISTDA ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับงานวิจัยในอนาคตทั้งการทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศบนภาคพื้นดินและภาคอวกาศไว้เรียบร้อย แต่ทว่าในชั้นบรรยากาศโลกชั้นสตราโตสเฟียร์ก็มีสภาวะใกล้เคียงกับสภาพความเป็นอวกาศ ประกอบกับการส่งการทดลองขึ้นไปบริเวณชั้นนี้ด้วยบอลลูนมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าส่งไปยังสถานีอวกาศฯหลายเท่า จึงนับว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากอวกาศในข้อนี้เพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

การสร้างแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงด้วยบอลลูนเป็นแนวคิดที่ประเทศไทยสามารถสร้างได้ด้วยตัวเองและต่อยอดสู่การนำงานวิจัยด้านชีวะและฟิสิกส์มาทดลองเพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมอวกาศ อาทิ การทดลองทำฟาร์มลอยฟ้าในอวกาศด้วยบอลลูนเพื่อรับบรรยากาศที่สะอาดกว่าบนพื้นโลก เป็นต้น เมื่อองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศในไทยมีมากเพียงพอก็จะนำไปสู่แนวความคิดใหม่ๆของการวิจัยและการทดลองทางเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เฉพาะดาวเทียมเท่านั้น เช่น การทดลองรับส่งสัญญาณของระบบนำทาง การติดตามหรือขับเคลื่อนรถยนต์จากชั้นบรรยากาศอวกาศ ซึ่งเราอาจเรียกรวมๆ ได้ว่าเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน high altitude platform ของประเทศ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นที่การสร้างโอกาสการทดลองให้นักวิจัยไทย

ดังนั้นการทดลองงานวิจัยบนห้วงอากาศสูงด้วยบอลลูนจะเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต ช่วยเพิ่มทั้งโอกาสและพื้นที่การทำงานของนักวิจัยไทย สร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียด้านวิทยาศาสตร์อวกาศมาช่วยพัฒนางานวิจัย เสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อวกาศของประเทศไทย และต่อยอดสู่การประยุกต์ใช้งานจริงในอนาคต

f58d21fc755854c48a481870ab82eb54.jpg

เมื่อแพลตฟอร์มพร้อม การพัฒนาคนก็ต้องพร้อม

เป็นที่น่าสังเกตว่าระหว่างการปล่อยบอลลูนนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากน้องนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ นครสวรรค์ โดยได้ซักถามทีมงานตลอดการเตรียมการไปจนถึงการนับถอยหลังร่วมกันเพื่อปล่อยบอลลูนขึ้นสู่ห้วงอากาศ แถมน้องๆยังได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการทดลองวิทยาศาสตร์อวกาศจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง นับว่าเป็นบรรยากาศของการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีแต่ความสนุกสนานและตื่นเต้นท่ามกลางแรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้น

เพื่อให้บรรยากาศของการเรียนรู้เช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปและกระจายไปทั่วประเทศ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์อวกาศด้วยบอลลูนควรได้รับการพัฒนาเป็นหลักสูตรเรียนรู้ระยะสั้น ในระดับมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน โดยอาศัยประสบการณ์จากการทดลองในครั้งนี้เป็นต้นแบบ เพื่อต่อยอดผลความสำเร็จของกิจกรรมไปสู่เยาวชนทั่วประเทศและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ด้านอวกาศให้เข้าถึงเยาวชนทั่วประเทศ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อวกาศในประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคต

กลไลการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศในระดับเยาวชนของประเทศเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ GISTDA ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะทิศทางของประเทศไทยจะถูกกำหนดด้วยทักษะที่พวกเขามี ดังนั้น การสร้างโอกาสในการเรียนรู้และเสริมสร้างทักษะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศหรือวิทยาศาสตร์อวกาศเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศในอนาคต

ความสำเร็จของการปล่อยบอลลูนในครั้งนี้นับว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จเล็กๆ ทั้งทางด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการนักวิจัยในอนาคตให้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว อีกทั้งการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนเพื่อจุดประกายความคิดเกี่ยวกับโอกาสของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศในอนาคตที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้เริ่มต้นจากการเรียนรู้ เมื่อนำความสำเร็จเล็กๆมารวมกัน ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจะพาไปสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ขอเพียงเราไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย เพื่ออนาคตที่ดีของคนไทยทุกคนร่วมกัน

อ้างอิง ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู วิศวกรชำนาญการ หัวหน้าโครงการ National Space Exploration (NSE), GISTDA