คืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล” ทดสอบในอาสาสมัครพบภูมิคุ้มกันดีขึ้น มีผลข้างเคียงน้อย ฝีมือทีมนักวิจัยไทยจากคณะแพทย์จุฬาลงกรณ์

916

คืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล” ทดสอบในอาสาสมัครพบภูมิคุ้มกันดีขึ้น มีผลข้างเคียงน้อย ฝีมือทีมนักวิจัยไทยจากคณะแพทย์จุฬาลงกรณ์

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แถลงความก้าวหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะรายบุคคล” ซึ่งเป็นนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยวัคซีน โดยทีมวิจัยได้ทดสอบวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลกับอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 4 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma) 3 ราย และ มะเร็งไต 1 ราย พบว่าการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย ผลข้างเคียงน้อย เช่น มีอาการปวดตรงจุดที่ฉีดวัคซีน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง และหลังจากการฉีดวัคซีน 3 สัปดาห์ พบว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยทั้ง 4 ราย ดีขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะต่อชิ้นส่วนการกลายพันธุ์ของผู้ป่วยมะเร็งรายนั้น

blank

การผลิตวัคซีนรักษามะเร็ง เฉพาะบุคคลนี้ ต้องใช้ข้อมูลการกลายพันธุ์ที่ตรวจพบในผู้ป่วยรายนั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็ง เนื่องจากมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคนมีการกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ที่ต่างกัน การผลิตวัคซีนจึงต้องทำทีละ 1 ราย เพื่อสร้างให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จำเพาะและมีประสิทธิภาพไว้ต่อสู้กับโรคมะเร็ง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการนำชิ้นเนื้อมะเร็งจากผู้ป่วยมาถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อตรวจหาการกลายพันธุ์ที่พบในชิ้นเนื้อมะเร็งเท่านั้น และนำข้อมูลการกลายพันธุ์มาผลิตเป็นชิ้นส่วนของโปรตีนของมะเร็งที่กลายพันธุ์ขนาดเล็กแต่ไม่สามารถก่อโรคได้ หลังฉีดวัคซีนแล้ว เม็ดเลือดขาวชนิด antigen presenting cells จะกินชิ้นส่วนโปรตีนกลายพันธุ์ที่ผลิตไว้ และกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ให้รู้จักการกลายพันธุ์ของมะเร็งมากขึ้น

blank

ในอีก 4 ปีข้างหน้า ทีมวิจัยตั้งเป้าจะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะถัดไป โดยเริ่มเปิดให้บริการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และเมื่องานวิจัยสามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จะดำเนินการขึ้นทะเบียน ขณะเดียวกัน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้ทำการวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็ง (ยาภูมิต้านมะเร็ง) คู่ขนานกันไป ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการผลิตในโรงงาน โดยจะเริ่มการทดสอบในสัตว์ทดสองในปี 2565 นี้ และมีเริ่มการทดสอบทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งในปี 2566 ในต่อไป ซึ่งหากการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และยาแอนติบอดีประสบผลสำเร็จ จะสามารถใช้การรักษาทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งให้ดีขึ้น