คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ หารือแนวทางให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

372

คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ หารือแนวทางให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น หากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ เข้าร่วมการประชุม

นายอนุทินกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายใหม่ คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลดลง ซึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดี ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงได้หารือใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1)เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น ซึ่งหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง และ 2) เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริการวัคซีนโควิด และวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปี จำนวนทั้งสิ้น 5.8 ล้านคน ขณะนี้มีวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.ไทย ส่งมอบล็อตแรกแล้วเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 จำนวน 3 แสนโดส และจะทยอยจัดส่งต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมฉีดให้เด็กจำนวน 2 เข็ม โดยจะเริ่มในกลุ่มเด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่รักษาในโรงพยาบาล (Hospital-based vaccination) เพื่อป้องกันเด็กป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จากการแพร่ และรับเชื้อ โดยจะเริ่มในวันที่ 31 มกราคมนี้ ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และขยายไปยังเด็กกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งให้บริการที่โรงเรียน (School-based vaccination) ในระดับประถมศึกษา สังกัดหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชน รวมถึงเด็กที่เรียนผ่านระบบ home school ด้วย

ส่วนผู้ที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะฉีดให้ตามสูตรที่กำหนด เพื่อให้บริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ได้ถูกต้อง ยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาเป็นวัคซีนที่ดี รวมทั้งได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ 60 ล้านโดส และไฟเซอร์ อีก 30 ล้านโดส สำหรับเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ จะเน้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นมากขึ้น ส่วนเข็มที่ 4 จะฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีความจำเป็น จึงขอความร่วมมือช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากที่สุด