เดินหน้า รถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีแดง ลุยศึกษา 1 ปี คาดปี 70 สร้างเสร็จได้ใช้จริง เผยรูปแบบการเดินรถและสถานี

19313

เดินหน้า รถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีแดง ลุยศึกษา 1 ปี คาดปี 70 แล้วเสร็จได้ใช้จริง เผยรูปแบบการเดินรถและสถานี

     เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 เวลา 09.00 น. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) โดยภายในงานมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจรวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน ณ ห้องแกรนด์วิว 3 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายมนัส ขันใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธานพิธีเปิด

      โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลโครงการ แผนการดำเนินงาน แนวคิดการออกแบบรูปแบบโครงการ แนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบข้อมูลพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในปรับปรุงโครงการต่อไป

     สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานช่วงที่ 1 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม (Feasibility Study) ออกแบบ จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ซึ่งตามผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า โครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งผสมระดับใต้ดินและระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวเหนือ – ใต้ รวมระยะทางประมาณ 12.5 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 12 สถานี ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง (แยกแม่เหียะ สมานสามัคคี) เป็นต้น

     ทั้งนี้ รฟม. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยให้ดำเนินการก่อสร้าง ครั้งละ 1 เส้นทาง เริ่มจากสายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นลำดับแรก ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ของประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ผ่านหน้าบ้านใครบ้างมาดูกัน! เผยแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเชียงใหม่ 3 สาย โดยจะเริ่มก่อสร้างสายสีแดงเป็นสายแรก