คนจนเพิ่มขึ้น 500,000 คน น้อยจากการที่คาดการณ์ เพราะมาตรการเยียวยาของรัฐที่ครอบคลุม

164

คนจนเพิ่มขึ้น 500,000 คน น้อยจากการที่คาดการณ์ เพราะมาตรการเยียวยาของรัฐที่ครอบคลุม

จากข้อมูลการรายงานภาวะสังคมไตรมาส 3 ปี 2564 จากทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่กระทบกับประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยในระยะแรกจากการเป็นโรคอุบัติใหม่ที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และทั่วโลกยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้มากนัก ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งการปิดสถานที่เสี่ยง จำกัดการเดินทาง กระจายการตรวจหาเชื้อ และควบคุมผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรงตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 ผู้ประกอบการบางสาขาต้องปิดกิจการ หรือเลิกจ้างแรงงานบางส่วน และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 1 เท่าตัว สถานการณ์ดังกล่าวทำให้องค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัย หรือนักวิชาการต่างมีข้อกังวลไปในทิศทางเดียวกันว่า COVID-19 จะส่งผลให้สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีความรุนแรงขึ้น และกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะธนาคารโลกที่ออกมาคาดการณ์ว่าสัดส่วนคนจนจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.8 ในปี 2563 จากปี 2562 ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.24

ความยากจนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากดังที่มีการคาดการณ์ไว้ จำนวนคนยากจนในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนที่ร้อยละ 6.84 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือคนจนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 500,000 คนจากปีก่อนเท่านั้น ซึ่งการที่สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการระบาดของ COVID-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวลงถึงร้อยละ 6.111 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความยากจนยังต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลที่ได้ออกมาตลอดช่วงเวลาการระบาดของ COVID-19 โดยรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาครอบคลุมประชากรมากกว่า 40 ล้านคน ประกอบด้วย โครงการเราไม่ทิ้งกัน (ช่วยเหลือเงินชดเชยรายได้กลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร และผู้ประกันตนมาตรา 39 และ มาตรา 40 คนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน) การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กแรกเกิด อายุ 0-6 ปี ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนชรา ผู้ที่มีบัตรคนพิการ

โดยช่วยเหลือเงินเยียวยาคนละ 1,000 บาท จำนวน 3 เดือน กลุ่มตกหล่น อาทิ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน และกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 13.6 ล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมในช่วงปลายปี ทำให้โดยเฉลี่ยประชาชนได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ (เฉพาะโครงการช่วยเหลือเยียวยาตามพระราชกำหนดให้อ้านาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563) เฉลี่ยทั้งปีที่ 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของเส้นความยากจน

6ZCjpu.png