รพ.สวนดอก ออกมาตรการเชิงรุก นำร่องโครงการแยกผู้ติดเชื้อฯ กักตัวที่บ้าน จัดส่งยา-อาหาร 3 มื้อ ทีมแพทย์ดูแลใกล้ชิด

1853

รพ.สวนดอก ออกมาตรการเชิงรุก นำร่องโครงการแยกผู้ติดเชื้อฯ กักตัวที่บ้าน จัดส่งยา-อาหาร 3 มื้อ ทีมแพทย์ดูแลใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “สถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดเชียงใหม่ ในขณะนี้ยังไม่น่าไว้วางใจ มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการดำเนินมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ด้วยตนเอง โดยมีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยอาการหนัก และอัตราการครองเตียงในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ ฯลฯ ในส่วนของ รพ.สนาม บ้านกิ่งแก้ว ซึ่งดูแลโดยโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้มีการหารือถึงการบูรณาการการบริหารจัดการร่วมกัน ของบุคคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นผู้ป่วยเด็ก รวมถึงโรงพยาบาลสนามธรรมปกรณ์ที่ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ พร้อมได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการบริหารจัดการวัคซีนฯ ในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เห็นถึงภาพรวมของการทำงานและบริหารจัดการการฉีดวัคซีนในระดับจังหวัดมากขึ้น โดยรองนายกฯ ได้มีประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีวัคซีนเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ถึง 7 แสนโดส เพื่อให้ชาวเชียงใหม่ได้ฉีดวัคซีนครบทั้ง 100 เปอร์เซนต์ ซึ่งจะช่วยให้วิกฤตโควิดคลี่คลายได้ในระยะยาว มีผลให้จำนวนผู้ป่วยหนักจะลดลง และโอกาสที่ทำให้สถานการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้นในระยะเวลารวดเร็ว”

blank

ด้าน ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวถึงภารกิจรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ขณะนี้ว่ามีอยู่หลายภารกิจ มีคลินิกตรวจผู้ป่วยที่เข้าข่ายป็นโรคโควิด ซึ่งเป็นส่วนที่ดูแลการตรวจเชิงรุก หรือใช้ตรวจติดตาม โดยเป็นการตรวจ swab จมูก ซึ่งให้บริการในภาคประชาชน และบุคคลที่มีความเสี่ยง ภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเตรียมพร้อมบริหารจัดการเตียงและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อฯ เคสอาการหนัก (สีส้มและสีแดง) โดยสถานการณ์ขณะนี้ถือว่ากำลังอยู่ในช่วงวิกฤต เตียงที่ใช้รองรับผู้ป่วยหนัก เริ่มไม่เพียงพอแล้ว เนื่องจากแนวโน้มผู้ป่วยหนักเริ่มมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกวันตามจำนวนของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

blank

“ในส่วนของโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ล่าสุดมีรายงานว่า เตียงที่รับผู้ป่วยเต็มทั้ง 10 เตียง โดยเป็นคนไข้หนักกลุ่มสีแดงทั้งหมด ตึกนิมมานเหมินท์-ชุติมา (ตึกโรคปอด) มีทั้งหมด 11 เตียง ขณะนี้เต็มเช่นเดียวกัน ส่วนโรงพยาบาลสงฆ์ แห่งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มี 24 เตียง ขณะนี้ว่าง 2 เตียง ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของ รพ.มหาราชฯ”

ด้านสถานการณ์คลัสเตอร์บ้านเด็กกิ่งแก้ว ซึ่งทางรพ.มหาราชฯ ไปจัดตั้งเป็น รพ.สนาม เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลนั้น ผศ.นพ.นเรนทร์ เผยว่า ขณะนี้ผู้ป่วยเด็กที่ติดโควิดทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว จึงประกาศปิดโรงพยาบาลสนามไปเมื่อสองวันก่อน ในส่วนโรงพยาบาลสนามบ้านธรรมปกรณ์ (เชียงใหม่) เนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุซึ่งมีโรคประจำตัว แต่ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ขณะนี้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา Antibody Cocktail แก่ผู้ป่วยสูงอายุจำนวน 25 ราย ซึ่งยาดังกล่าวได้รับการจัดสรรจากกรมการแพทย์ มีผลช่วยลดอาการรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยต่อไปว่า ขณะนี้โรงพยาบาลฯ ได้นำทีมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ จัดทำโครงการ Home Isolation เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิดอีกทางหนึ่ง โดยหลักการสำคัญคือ การแยกกักตัวผู้ติดเชื้อฯ และรักษาที่บ้าน

blank

“ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้เริ่มทำ Home Isolation โดยดำเนินการรับผิดชอบในเขตอำเภอเมือง เพราะเป็นพื้นที่ในเขตการรักษาพยาบาลของ รพ.มหาราช โดยรับผู้ป่วยติดเชื้อ Covid-19 ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำ Home Isolation คือผู้สูงอายุ(อายุมากกว่า 60 ปี) ผู้ที่ป่วยด้วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพราะมีความเสี่ยงสูง

blank

สำหรับโครงการ Home Isolation ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ดูแลจะเป็นผู้ป่วยที่พำนักในเขตอำเภอเมือง จ.เชียงใหม่ ไม่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งประกอบด้วย โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โดยมีอาการไม่รุนแรง และมีสมาร์ทโฟน (หรือมีผู้อื่นในบ้านที่มีสมาร์ทโฟน) สามารถเข้าระบบดูแลที่บ้านได้ (Home Isolation) โดยเมื่อพบว่าตัวเองป่วยจากโควิด-19 ให้แจ้ง Call Center ของ รพ. มหาราชนครเชียงใหม่ หมายเลข 053-934678 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีช่องทางการประสานผ่าน call center ของ สปสช ที่หมายเลข 1330 ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลโดยทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

blank

ผู้ป่วยจะได้รับปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมือ ยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับรักษาการติดเชื้อโควิด-19 และยาพื้นฐานอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ผู้ป่วยต้องวัดและส่งข้อมูลผลการวัดอุณหภูมิในร่างกาย ระดับความอิ่มตัวของ ออกซิเจน ชีพจร เข้ามาผ่านระบบ application ข้อมูลจะส่งเข้ามาที่ศูนย์บัญชาการ ทีมแพทย์ผู้รักษาประเมินอาการจากผลการตรวจวัดที่ได้รับ หากพบอาการผิดปกติ จะได้รับการประเมินอาการด้วย Chat , VDO call และโทรศัพท์ติดตามอาการ โดยขณะทำการรักษาแบบ Home Isolation ผู้ป่วยจะได้รับอาหาร 3 มื้อ (ส่งโดยไรเดอร์) หากมีอาการเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ว่าติดเชื้อลงปอด จะทำการประเมินประสานส่งต่อเข้ารับการรักษาตัว เมื่อรักษาตัวครบ 10 วัน ก็จะสามารถออกจากการดูแลตัวเองที่บ้าน และใช้ชีวิตตามปกติได้

โครงการ Home Isolation ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดังกล่าว จะสามารถเป็นโครงการแบบอย่างให้หน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชน นำไปเป็นแนวทางการจัดทำมาตรการ Home Isolation ของจังหวัดเชียงใหม่ในระยะต่อไป

blank