สบยช. เตือนนักดื่ม หักดิบหยุดดื่มกะทันหันร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แนะคนใกล้ชิดสังเกตอาการและรีบพาไปพบแพทย์

119

กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนนักดื่ม หักดิบหยุดดื่มกะทันหันร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แนะคนใกล้ชิดสังเกตอาการและรีบพาไปพบแพทย์

CE6g1Z.jpg นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “สุรา” คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้สมองเสื่อม ความคิดความจำบกพร่อง เกิดไขมันสะสมในตับ ตับอักเสบ และเกิดภาวะตับแข็งตามมา เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยพิษแบบเฉียบพลัน จะทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้ง่าย ในผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังซึ่งหมายถึง ผู้ที่ดื่มมากกว่าตั้งแต่ 5 วันต่อสัปดาห์ขึ้นไปและดื่มวันละมากกว่า 2 ดื่มมาตรฐาน ซึ่งเทียบได้กับเบียร์ 1.5 กระป๋อง, เหล้าแดง 4 ฝา, ไวน์ 2 แก้ว, เหล้าขาว 2 เป๊ก จะทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ เสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิต เช่น ซึมเศร้า อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง ระบบความจำบกพร่อง สับสนไม่รู้วัน เวลา สถานที่ สมองเสื่อม มีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม ทั้งนี้หากหยุดดื่มอย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน มักจะพบอาการมือสั่น เหงื่อออก เป็นไข้ สับสน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอน หวาดระแวงคิดว่าจะมีใครมาทำร้าย อาจทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่น ชักเกร็ง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ทางด้านนายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ และมีการหักดิบหยุดดื่มกะทันหัน ร่างกายจะปรับสภาพไม่ทัน ทำให้เกิดอาการอยากอย่างรุนแรงหรือเสี้ยน (craving) ซึ่งเมื่อกลับมาดื่มอีกครั้งจะไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดดื่มได้ ทำให้ดื่มมากกว่าที่เคยดื่ม เกิดพิษสุราแบบเฉียบพลันได้ง่ายกว่าปกติ ทำให้สมาธิลดลง มึนงง ปฏิกิริยาตอบกลับอัตโนมัติช้าลง เสียการควบคุมระบบกล้ามเนื้อ กดการหายใจและการเต้นของหัวใจ ไม่รู้สึกตัว การหายใจช้าลงและอาจเสียชีวิตได้ โดยความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณสุราที่ดื่มเข้าไป แนะครอบครัวและคนใกล้ชิดให้สังเกตอาการของผู้ที่หยุดดื่มกะทันหัน หากพบมีอาการเสี่ยงให้รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อขอรับคำปรึกษาหรือเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ซึ่งการบำบัดรักษามี 2 รูปแบบ คือ

  1. การบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยนอก เหมาะสำหรับผู้ติดแบบไม่รุนแรงมาก สามารถดูแลการทานยาและควบคุมการหยุดดื่มได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางกาย
  2. การบำบัดแบบผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ หรือมีภาวะแทรกซ้อนทางกาย โดยแพทย์จะบำบัดรักษาอาการถอนพิษสุราและภาวะแทรกซ้อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อฟื้นฟูกระบวนการคิด สมรรถภาพร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป

การดื่มสุราไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อร่างกาย ในผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ มีโอกาสติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ยิ่งในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID -19 การดื่มสุรายิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อมากขึ้น ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th

*********************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี #สบยช. #สุรา
-ขอขอบคุณ-

  • แหล่งที่มา : ข่าวประชาสัมพันธ์ กรมการเพทย์
  • เว็บไซต์ : https://www.dms.go.th/