ผ่านหน้าบ้านใครบ้างมาดูกัน! เผยแนวเส้นทาง รถไฟฟ้าเชียงใหม่ 3 สาย เริ่มก่อสร้าง สายสีแดง เป็นสายแรก

105767

เผยแนวเส้นทาง รถไฟฟ้าเชียงใหม่ 3 สาย โดยจะเริ่มก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีแดง เป็นสายแรก ระยะทางโดยรวมประมาณ 12 กิโลเมตร

   หลังจากที่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา กําหนดจังหวัดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดําเนินกิจการรถไฟฟ้า พ.ศ. 2562 ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดําเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่นั้น

   การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จึงได้ลงพื้นที่สำรวจการก่อสร้าง โดยจะเริ่มจากการก่อสร้าง รถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีแดง ก่อนเป็นสายแรก ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีแดง จะเริ่มจากทางวิ่งบนดิน ตั้งแต่ โรงพยาบาลนครพิงค์ – ศูนย์ราชการเชียงใหม่ – สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี – ศูนย์ประชุมนานาชาติ – หนองฮ่อ –  เริ่มใช้ทางวิ่งใต้ดิน ข่วงสิงห์ – มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ – ประตูช้างเผือก – ประตูสวนดอก – หายยา – ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (พ้นเขตสนามบินเชียงใหม่ เริ่มใช้ทางบนดิน) – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี

ส่วนรถไฟฟ้าอีกสองสายที่ยังคงต้องรอต่อไปนั้นประกอบด้วยสายสีฟ้าและสายสีเขียว

รถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีเขียว ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางวิ่งบนดิน แยกรวมโชค – เริ่มต้นทางวิ่งใต้ดิน แยกฟ้าฮ่าม(เทพปัญญา) – เซ็นทรัลเฟสติวัล – สถานีขนส่งอาเขต – รร.ดาราวิทยาลัย – รพ.แมคคอร์มิค – รร.ปรินส์ฯ – เทศบาลนครเชียงใหม่ – ตลาดวโรรส(กาดหลวง) – ไนท์บาซาร์ – รร.เรยีนาฯ – รร.พหฤทัยฯ – รร.มงฟอร์ตฯ – เชียงใหม่แลนด์ – เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต – มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น – ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่(พบจุดตัดสายสีแดง)

รถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีน้ำเงิน ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางวิ่งใต้ดิน สวนสัตว์เชียงใหม่ – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา – มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – แยกภูคำ – แยกตลาดต้นพยอม – โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่(พบจุดตัดสายสีแดง) – วัดพระสิงห์ฯ – ประตูท่าแพ – ย่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์(พบจุดตัดสายสีเขียว) – ตลาดสันป่าข่อย – สถานีรถไฟเชียงใหม่ – เริ่มใช้ทางวิ่งบนดินที่แยกหนองประทีป – ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีดอนจั่น – ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา

*แต่ละจุดสถานี เป็นเพียงการกำหนดเบื้องต้นเท่านั้น ทั้งนี้ยังคงต้องมีการลงพื้นที่ศึกษาอีกครั้งก่อนมีการเริ่มโครงการก่อสร้างจริง

     โดยความคืบหน้าล่าสุด ของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง ( รถไฟฟ้าเชียงใหม่ )ซึ่งจะมีการเริ่มโครงการก่อสร้างเป็นสายแรกนั้น ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จะดำเนินการสำรวจพื้นที่เพื่อใช้ในการศึกษารายละเอียด ความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สาย สีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์–แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) รวมระยะทางประมาณ 12.54 กิโลเมตร โดยมอบหมายให้กลุ่มที่ปรึกษาเป็นผู้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว

     สำหรับการศึกษาและออกแบบแนวเส้นทางรถไฟฟ้าของโครงการ จะกำหนดตำแหน่ง  รูปแบบสถานี และรูปแบบทางวิ่งที่เหมาะสม  โดยคำนึงถึงแนวเส้นทางและสถานีรถไฟฟ้า ถนน ทางลอด ทางยกระดับ และทางพิเศษอื่นๆ ที่ตัดกันหรือเชื่อมต่อกับแนวเส้นทางของโครงการ รวมทั้งผลกระทบต่อประชาชนข้างเคียง และกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีผลกระทบต่อการเวนคืนที่ดินข้างเคียงให้น้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงผลกระทบกับโบราณสถาน ทั้งนี้ แนวเส้นทางและตำแหน่ง รวมทั้งรูปแบบและจำนวนสถานีที่เสนอแนะ อาจแตกต่างจากผลการศึกษาและการออกแบบที่มีอยู่แล้วหากมีความเหมาะสมและดีกว่าแบบเดิม

     สรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)

      ในงานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องแกรนด์วิว 3 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

       เพื่อให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้มีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เสนอประเด็นห่วงกังวล และได้แสดงความคิดเห็นอย่างครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาโครงการเป็นไปด้วยความรอบคอบ โปร่งใส และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน โดยได้พิจารณาให้สอดคล้องตามประกาศสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แนวทาง การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทํารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2542 และเป็นไปตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548

       โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นบริเวณโรงพยาบาลนครพิงค์ และมีจุดสิ้นสุดบริเวณแยกแม่เหียะสมานสามัคคี และมีสถานเบื้องต้น 12 สถานี ซึ่งมีระยะทางรวม 12.54 กิโลเมตร ในการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมีขอบเขตพื้นที่ศึกษาอยู่ใน ระยะประมาณ 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 8 ตําบล 2 อําเภอ ได้แก่ ตําบลดอนแก้ว อําเภอแม่ริม ตําบลช้างเผือก ตําบลศรีภูมิ ตําบลพระสิงห์ ตําบลหายยา ตําบลสุเทพ ตําบลป่าแดด และตําบลแม่เหียะ อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

โดยผลสรุปประเด็น ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมี มีข้อสรุปดังนี้

ด้านวิศวกรรม

1. แนวเส้นทางโครงการควรมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่อําเภอแม่ริมและมีจุดสิ้นสุดที่ย่านายหางดง
2. ควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการระบบขนส่งทุกระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรได้ตรงจุด
3. ควรมีการพัฒนาโครงการเป็น loop สั้นๆ
4. ควรออกแบบโครงการให้รองรับประชาชนที่เดินทางโดยจักรยาน
5. ควรกําหนดตําแหน่งสถานีให้อยู่ใกล้บริเวณโรงเรียนหรือสถานที่ราชการ เพื่ออํานวยความสะดวกให้แก่เด็กและประชาชน ที่มาใช้บริการ
6. ควรมีสถานีเพิ่มเต็มช่วงบริเวณท่าอากาศยานเชียงใหม่ถึงแยกแม่เหียะเสมานสามัคคี
7. ควรมีที่จอดรถบริเวณท่าอากาศยานเชียงใหม่ถึงแยกแม่เหียะ สมานสามัคคี
8. ควรมีการศึกษาแบบบูรณาการกับโครงการอื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นต้น 9. ควรออกแบบพัฒนาโครงการให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น เพื่ออํานวยความสะดวกให้กับประชาชน
10. ควรพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่พร้อมกันทั้ง 3 เส้นทาง ตามแผนแม่บท

ด้านสิ่งแวดล้อม

1. ควรออกแบบโครงสร้างให้อยู่ระดับดิน เนื่องจากโครงการบางส่วนอยู่ในเขตเมืองเก่าและช่วยลดงบประมาณในการก่อสร้าง

ด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

1. ควรประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เช่น ผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
2. ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดําเนินโครงการ
3. ควรจัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหารือแนวทางการจัดทํา TOD
4. ควรเพิ่มเติมข้อมูลโครงการและปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น เว็บไซต์ เฟชบุ๊ก เป็นต้น
5. ควรเชิญผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างครบถ้วน

ข้อเสนอแนะอื่น ๆ

1. ควรเร่งดําเนินโครงการให้เกิดขึ้นจริง
2. ควรเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลโครงการ

เพิ่มเติมดูได้ที่เพจจังหวัดเชียงใหม่

ติดตามเว็บไซต์ CM108 ประจำจะไม่พลาดข่าวสาร