“บ้านถวาย” อ่วม! พิษโควิดกระทบหนัก ปิดกิจการไปแล้วกว่า 400 ราย บางรายต้องปรับตัวขายออนไลน์ เผยรายได้ลดฮวบกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

1167

“บ้านถวาย” แหล่งท่องเที่ยวหัตถกรรมขึ้นชื่อของเชียงใหม่ สุดเงียบเหงา ผลกระทบโควิดทำผู้ประกอบการกว่า 400 เจ้า พับเสื่อปิดร้าน ขณะที่บางรายผันธุรกิจปรับตัวขายส่งออนไลน์ โซเชียล เผยรายได้จากช่วงที่เคยบูมรายได้ปีละ 1,000 ล้าน ลดฮวบกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ เหลือปีละ 300-400 ล้าน ส่วนรายได้ด้านการท่องเที่ยวแทบเป็นศูนย์

วันที่ 18 ส.ค.64 รายงานข่าวแจ้งว่า จากสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปัจจุบันในพื้นที่ยังคงมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลกระทบถึงสภาพความเป็นอยู่และเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหลากหลายธุรกิจชุมชน โดยเฉพาะในชุมชนการท่องเที่ยวหรือชุมชนหัตถกรรม ที่ในตอนนี้จากสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวทำให้การท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ต้องหยุดชะงักมาอย่างยาวนาน อีกทั้งส่งผลต่อรายได้ของชุมชนที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกันกับที่ชุมชนบ้านถวาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมไม้แกะสลัก และเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ภายหลังจากได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ชุมชนไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวและการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมอีกทั้งไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว จนทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการในพื้นที่หลายรายต่างพากันปิดกิจการ และต้องปรับตัวหันมาประกอบธุรกิจอย่างอื่น หรือในรูปแบบอื่นแทนการเปิดขายหน้าร้านจากแต่ก่อนที่มีนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจเข้ามาติดต่อซื้อสินค้าหัตถกรรมถึงหน้าร้าน และพบว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 400 ราย จากทั้งหมด 900-1,100 ราย ต้องปิดกิจการลงในที่สุด จากผลกระทบที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมายาวนานเกือบ 3 ปีแล้ว

blank

จากการสอบถามทางด้าน นายวสันต์ เดชะกัน นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินค้าหัตถกรรมบ้านถวาย และในฐานะรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในส่วนของชุมชนบ้านถวาย ก็เป็นอีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกันกับหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นในตอนนี้ที่เป็นช่วงระลอก 3-4 แล้ว ที่เมื่อเกิดผลกระทบจากการท่องเที่ยวทำให้คนเดินทางเข้ามาพื้นที่น้อยลง แต่อีกทางหนึ่งจากการที่ชุมชนบ้านถวายเป็นชุมชนที่ผลิตสินค้าหัตถกรรม ทำให้เป็นข้อได้เปรียบจากการที่ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ลูกค้า หรือนักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางเข้ามาในพื้นที่เพียงทางเดียว โดยสามารถส่งสินค้าไปได้ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายปรับตัว และเปลี่ยนพฤติกรรมการด้วยการหันมาทำธุรกิจออนไลน์ หรือส่งขายสินค้ากันมากกว่าการเปิดขายหน้าร้านมากขึ้น ซึ่งก็ยังพอช่วยขายสินค้าได้ แต่ก็ยังคงไม่เหมือนกับการจำหน่ายสินค้าในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

blank

ขณะเดียวกัน ในส่วนของความแตกต่างด้านรายได้ธุรกิจจากก่อนหน้านี้ที่มีนโยบายการส่งเสริมสินค้า OTOP ชุมชน และช่วงที่หมู่บ้านถวายเป็นชุมชนที่ติดอันดับ ช่วงประมาณปี พ.ศ.2547-2548 มีรายได้เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่และทั้งในส่วนของการจำหน่ายสินค้าด้วยการส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายสินค้าที่ได้จากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ แต่ช่วงหลังมานี้รายได้ที่เคยมีนั้นก็หายไปมากพอสมควร ทำให้สถิติยอดขาย และผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการบางรายพากันปิดกิจการและบางรายก็ลดกำลังการผลิต ทำให้ยอดรายได้ที่ก่อนหน้านี้มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้าน ลดลงไปหลายเท่าตัวทำให้ตอนนี้คาดว่าน่าจะเหลือเพียงประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง ที่กลุ่มแรกเป็นกลุ่มลูกค้าส่งออก ที่ตอนนี้ในต่างประเทศนั้นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และในกลุ่มที่สอง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ เช่น ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปตกแต่งคอนโด โรงแรม ต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ต่างจังหวัด อาทิเช่น ภูเก็ต พัทยา หัวหิน ที่มีการติดต่อซื้อผลิตภัณฑ์ไปตกแต่ง เมื่อมีผลกระทบของโควิด-19 เข้ามาก็ทำให้มีการลดยอดการสั่งซื้อลง จากการที่ไม่มีนักท่องเที่ยว หรือจากการที่มีการหยุดการให้บริการหรือการปิดชั่วคราว

blank

นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินค้าหัตถกรรมบ้านถวาย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของการท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านถวายนั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนักมาก เนื่องจากในขณะนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่นั้นแทบจะไม่มี หรือหากวัดค่าตัวเลขแล้วนั้นน่าจะเหลือเพียงหลักเดียว จากแต่เดิมที่เคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ซึ่งคาดว่าตัวเลขที่หายไปน่าจะมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่หายไป ที่ปัจจัยนั้นมาจากผลกระทบของเชื้อโควิดที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นมาก็ทำให้ชุมชนบ้านถวายได้รับผลกระทบอยู่พอสมควร แต่จากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนั้นก็ทำให้ชุมชนหรือผู้ประกอบการในพื้นที่มีการปรับตัว โดยส่วนใหญ่ขณะนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หันมาทำธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ โซเชียลต่างๆ มากขึ้น และนอกจากนี้ที่ผ่านมาทางภาครัฐโดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็ได้มีโครงการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว โดยชุมชนบ้านถวายก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 41 ชุมชนทั่วประเทศ ให้มีการอบรมเชิงลึกในเรื่องของการค้าขายออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางการจำหน่ายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้เข้าใจการขายสินค้ามากขึ้น

blank

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความคาดหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกตินั้น ทางชุมชนก็ยังมีความคาดหวังอยู่ แต่อาจจะเป็นในลักษณะพฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น หรืออาจเป็นวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งขึ้นอยู่กับการปรับตัวว่าจะสามารถดึงให้เกิดประโยชน์หรือให้สามารถอยู่รอดได้อย่างไร และหากมองอีกมุมหนึ่งก็เหมือนเป็นการคัดกรอง ซึ่งในตอนนี้ทางชุมชนบ้านถวายก็เหลือผู้ประกอบการที่ยังคงทำธุรกิจในลักษณะนี้อยู่ ส่วนผู้ประกอบการบางรายที่ทำเป็นอาชีพไม่ตายตัวก็มีการล้มเลิกไปหลายรายเช่นกัน และในอนาคตตนมองว่าในเรื่องของปริมาณซัพพลายที่ลดลงจากสภาวะโควิด และหากมีปริมาณดีมานที่เพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ธุรกิจนี้ยังคงไปได้ โดยหากภายหลังจากที่สถานการณ์โควิดหายไป หรือมีการจัดการที่ดีขึ้นก็จะทำให้สามารถเปิดประเทศได้ เริ่มมีเงินหมุนเวียนก็จะทำให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น

blank blank blank blank blank blank