เชียงใหม่ เตรียมพร้อมด้านการรักษาพยาบาลรองรับผู้ป่วยโควิด-19 หากเกิดสถานการ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น

664

เชียงใหม่ เตรียมพร้อมด้านการรักษาพยาบาลรองรับผู้ป่วยโควิด-19 หากเกิดสถานการ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 64 ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ครั้งที่ 39/2564 ว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัวโควิด-19 ขณะนี้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อกังวลใจในเรื่องของศักยภาพในการรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านสถานที่ เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ โดยจากการระบาดระลอกเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อประมาณ 4,000 กว่าคน ซึ่งระบบการจัดการที่ได้เตรียมการนั้นสามารถรองรับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลในระบบที่มีศักยภาพที่สูงขึ้นมา

ขณะนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้มีเตรียมการเพื่อรองรับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อให้มีความพร้อมมากขึ้นตามลำดับ โดยในช่วงที่มียอดผู้ติดเชื้อที่ลดลงโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการปรับปรุงระบบให้มีความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น และขณะนี้มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อประมาณ 500 กว่าราย และจังหวัดเชียงใหม่ได้เพิ่มจำนวนเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ (สีเขียว) ให้ได้ถึง 1,300 คน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนเท่านั้น รวมไปถึงเรื่องของ ICU และการเตรียมรองรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็ได้มีการเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากมีผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที นอกจากนี้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทุกอำเภอวางแผนขยายเตียงหรือโรงพยาบาลสนามในระดับอำเภอให้มีความพร้อมอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ในส่วนของอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์นั้นยังคงมีเพียงพอ ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางหลักของภาคเหนืออยู่แล้ว ดังนั้น ทั้งอุปกรณ์การแพทย์ ยาหรือเวชภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนเข้ามาจากส่วนกลาง ก็จะได้รับผ่านเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าเวชภัณฑ์หรือยาที่จะต้องใช้ในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ได้มีการเตรียมไว้มากพอสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ในหลายเท่าตัว โดยเครือข่ายโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ทุกแห่ง ได้มีการประสานงานกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้การส่งต่อคนไข้ไปรักษาในจุดที่มีความเหมาะสม สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคนไข้ที่มีอาการหนักก็จะได้รับการส่งต่อมายังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า ส่วนคนไข้ที่มีอาการดีขึ้นอาจจะนำส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนาม ทำให้สามารถบริหารเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อในจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ต่อไป

ข่าว : สุดาภรณ์ อินต๊ะธรรม / สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่