แม่โจ้โพลล์ เผยคนไทยส่วนมากบอกภาครัฐบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ล่าช้า อยากฉีดวัคซีนโควิดของ “ไฟเซอร์” มากสุด

1779

แม่โจ้โพลล์ เผยคนไทยส่วนมากบอกภาครัฐบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ล่าช้า อยากฉีดวัคซีนโควิดของ “ไฟเซอร์” มากสุด

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,131 ราย ระหว่างวันที่ 23 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2564 ในหัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไรต่อการบริหารจัดการวัคซีน โควิด-19 ของรัฐบาล” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่าหนักของไวรัส โควิด-19

จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้การบริหารจัดการวัคซีน โควิด-19 ของประเทศมีความล่าช้า พบว่า เกิดจากการวางแผนและบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดของรัฐบาล มากที่สุด (ร้อยละ 65.04) รองลงมา เกิดจากวัคซีนมีราคาสูง และประเทศไทยมีงบประมาณไม่เพียงพอ (ร้อยละ 15.53) เกิดจากข้อจำกัด/เงื่อนไขในการจัดจำหน่ายวัคซีนของผู้ผลิต (ร้อยละ 13.13) และ เกิดจากวัคซีนในตลาดโลกมีน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ (ร้อยละ 6.30) และเมื่อสอบถามถึงความวิตกกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการจัดการวัคซีน โควิด-19 ของประเทศไทย พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 73.83) วิตกกังวลต่อผลข้างเคียงของวัคซีน อันดับ 2 (ร้อยละ 57.91) วิตกกังวลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน อันดับ 3 (ร้อยละ 54.51) วิตกกังวลต่อความล่าช้าในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน อันดับ 4 (ร้อยละ 45.98) วิตกกังวลต่อ ความเพียงพอของวัคซีนต่อจำนวนประชากรในประเทศ อันดับ 5 (ร้อยละ 42.35) วิตกกังวลต่อการกระจายวัคซีนให้แก่คนในประเทศ และ อันดับ 6 (ร้อยละ 24.31) วิตกกังวลต่อ จำนวนยี่ห้อวัคซีนที่มีให้เลือกน้อย ในขณะที่มีผู้ที่ไม่วิตกกังวลเลย ร้อยละ 1.13 และเมื่อถามถึงการจัดการกับปัญหา Covid-19 ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.47 เห็นว่าควรให้เอกชนเร่งนำเข้าวัคซีนภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐได้ รองลงมา ร้อยละ 23.03 เห็นว่าควรรอการบริหารจัดการวัคซีนของภาครัฐ โดยให้รัฐเร่งนำเข้า และเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไป ร้อยละ 18.84 ควรเร่งฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสูง ร้อยละ 4.71 ควรจัดทำวัคซีนพาสปอร์ท เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ ร้อยละ 1.33 เห็นว่ารัฐบาลควรหาผู้ที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนแทนผู้ที่รับผิดชอบในปัจจุบัน และ ร้อยละ 0.62 ควรเน้นการป้องกันและดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 เป็นหลัก

เมื่อสอบถามถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวัคซีนของประเทศไทย ประชาชนร้อยละ 60.39 เห็นว่าการบริหารจัดการวัคซีนของประเทศไทยในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ มีเพียงร้อยละ 18.39 ที่เห็นว่าการบริหารจัดการวัคซีนของประเทศไทยในปัจจุบันมีประสิทธิภาพ โดยมี ร้อยละ 21.22 ไม่แน่ใจในประเด็นดังกล่าว และเมื่อถามถึงความต้องการในการฉีดวัคซีนของประชาชน หากมีวัคซีนเพียงพอ พบว่า กว่าร้อยละ 70.49 พร้อม/ต้องการที่จะฉีดวัคซีน มีเพียงร้อยละ 29.51 ที่ไม่พร้อม/ไม่ต้องการฉีดวัคซีน โดยเมื่อสอบถามถึงยี่ห้อ/บริษัทของวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องการฉีด จำนวน 8 ยี่ห้อ/บริษัท พบว่าประชาชนต้องการฉีดวัคซีนยี่ห้อ/บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) จากสหรัฐอเมริกา มากที่สุดเป็นอันดับ 1 (ร้อยละ 52.24) อันดับ 2 (ร้อยละ 15.32)  ต้องการฉีดแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) จากอังกฤษ อันดับ 3 (ร้อยละ 12.36) ต้องการฉีดซิโนแวค (Sinovac) จากจีน  อันดับ 4 (ร้อยละ 9.14) ต้องการฉีดจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson&Johnson) จากสหรัฐอเมริกา อันดับ 5 (ร้อยละ 6.31) ต้องการฉีดโมเดอนา (Moderna) จากสหรัฐอเมริกา อันดับ 6 (ร้อยละ 2.57) ต้องการฉีดสปุทนิค-ไฟว์ (Sputnik V) จากรัฐเซีย  อันดับ 7 (ร้อยละ 2.06) ต้องการฉีดชิโนฟาร์ม (Sinopharm) จากจีน และอันดับ 8 โคแวคซีน (Covaxin) จากอินเดีย พบว่าไม่มีผู้ต้องการฉีดวัคซีนยี่ห้อ/บริษัทนี้ แม้แต่รายเดียว

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ระบาดเป็นระลอกที่ 3 ส่งผลเสียหายร้ายแรงทั้งการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งการตกงาน และการปิดกิจการของธุรกิจร้านค้าขนาดกลางและขนาดย่อมหลายแห่ง ซึ่งหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขผลกระทบจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ยากที่จะเยียวยาแก้ไข การฉีดวัคซีนดูจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรับมือกับสถานการณ์นี้ ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่าประชาชนทั่วไปมีความต้องการฉีดวัคซีนถึงร้อยละ 70.49 แต่อย่างไรก็ตาม ข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่มากที่สุดคือเรื่องของผลข้างเคียงของวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีน ที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนของประชาชน ซึ่งภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำการสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลข้างเคียงและประสิทธิภาพของวัคซีน ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจนและรอบด้าน รวมถึงมีหลักประกันด้านการรักษาและดูแลให้แก่ผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ย่อมจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ซึ่งหากภาครัฐสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุมแล้วนอกจากจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้แล้ว ยังจะสามารถลดแรงกดกันต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและศรัทธาในการบริหารงานของรัฐบาลลงได้เป็นอย่างมาก

P1ktED.jpg