ครม.อนุมัติ โครงการส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ลดฝุ่น PM 2.5 ปีผลิต 63/64

189

ครม.อนุมัติ โครงการส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด ลดฝุ่น PM 2.5 ปีผลิต 63/64

blank
ครม.อนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 กรอบวงเงิน 6,869 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายโครงการช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 6,720 ล้านบาท และค่าดำเนินการของ ธ.ก.ส. จำนวน 149 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาอ้อยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวและช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดให้มีรายได้รวมมากกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ ซึ่งเป็นการจูงใจให้เกษตรกรตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น
สำหรับรายละเอียดการดำเนินโครงการคล้ายคลึงกับฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา แต่โครงการฤดูการผลิตปี 2563/2564 นี้ รัฐจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะเกษตรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น (ประมาณ 300,000 ราย) ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ตั้งเป้าหมายอ้อยสดร้อยละ 80 ของปริมาณอ้อยคาดการณ์ทั้งหมด 70 ล้านตัน คิดเป็นอ้อยสด 56 ล้านตัน โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเพียงครั้งเดียวหลังปิดหีบ (ระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2564) ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรทุกรายโดยตรง ทั้งที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานและเกษตรกรรายย่อยที่ส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ส่วนผลการดำเนินโครงการฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา ได้จ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดแล้ว 1.33 แสนราย เป็นเงินจำนวน 3,457 ล้านบาท มีปริมาณอ้อยสดส่งเข้าโรงงาน จำนวน 37.58 ล้านตัน และมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือร้อยละ 49.65 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด เมื่อเทียบกับปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 อยู่ที่ร้อยละ 61.11 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด
นอกจากนี้ ครม.รับทราบแผนดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ดังนี้ 1)ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ แบ่งเป็น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ไม่เกินร้อยละ 10 ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกินร้อยละ 5 และฤดูการผลิตปี 2566/2567 เป็นศูนย์ 1) หักเงินชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท 3)กำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด 4)จัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรยืม เพื่ออำนวยสะดวกในการตัดอ้อยสด 5)ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อย เพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อยหลังตัด 6)ขอความร่วมมือโรงงานช่วยประกันราคารับซื้ออ้อยสด ในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการตัดอ้อยสดอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต และให้จัดคิวรับอ้อยสดเข้าหีบเป็นอันดับแรก 7)สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร