ยอดจองฉีดวัคซีนเชียงใหม่เบาหวิว เป้า 6.1 แสนราย จองเข้ามาแค่ 4 หมื่น ผอ.โรงพยาบาลนครพิงค์ ยืนยันผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่รุนแรง

1599

ยอดจองฉีดวัคซีนเชียงใหม่เบาหวิว เป้า 6.1 แสนราย จองเข้ามาแค่ 4 หมื่น ผอ.โรงพยาบาลนครพิงค์ ยืนยันผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่รุนแรง

วันที่ 11 พ.ค. 64 ที่ห้อง POC ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ แถลงถึงการจัดการเรื่องวัคซีนของจังหวัดเชียงใหม่ ว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 หมื่นกว่าราย โดยเข็มที่ 1 จำนวน 22,153 ราย เข็มที่ 2 อีก 8,998 ราย โดยเป็นวัคซีนซีโนแวคทั้งหมด ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับวัคซีนเป็นบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนสองหมื่นกว่ารายนั้นไม่มีผู้ที่มีอาการรุนแรง ส่วนผู้ที่ต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการมีเพียงแค่ 2 ราย โดยมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย เป็นอาการชั่วคราวทั้งหมด และได้ทำการตรวจร่างกายทุกอย่างทั้งทำ MRI, CT Scan ซึ่งมีอาการชาเล็กน้อยหลังจากฉีดวัคซีนไป 1 วัน

“ในรอบเดือนมิถุนายน จังหวัดเชียงใหม่คาดว่า จะได้รับวัคซีนจำนวนมาก ซึ่งได้มีการจัดเตรียมสถานที่ทั้ง โรงพยาบาลรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนอกสังกัด เช่น ของกรมต่างๆ มหาวิทยาลัย และของทหาร และโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งสิ้น 43 แห่ง หลักๆ จะมี 3 หน่วยงานที่จะฉีดในปริมาณมากต่อวัน ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ จะใช้ โรงยิม 2 สนามกีฬา 700 ปี เป็นสถานที่ฉีด ตั้งเป้าว่าจะฉีดได้ประมาณ 1,000 คนต่อวัน และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ วางแผนฉีดที่พรอมเมนาดา อีกประมาณ 1,000 คนต่อวันเช่นกัน” ผอ.โรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าว

นพ.วรเชษฐฯ กล่าวอีกว่า เป้าหมายการฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายนจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค โดยเชียงใหม่ได้ขึ้นทะเบียนเป้าหมายการฉีดวัคซีนไว้ที่ 611,925 ราย แบ่งเป็นผู้สูงอายุ 429,913 ราย ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 182,012 ราย มีจองฉีดเข้ามาแล้ว 47,113 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ค. 64) ซึ่งยังถือว่าน้อย โดยในสัปดาห์หน้าทางสาธารณสุขจังหวัดจะออกไปเคาะประตูบ้านโดยความช่วยเหลือของ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ ทีมเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่จะเข้าไปสอบถามประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังเท่านั้น เพื่อต้องการทราบข้อมูลว่าประชาชนแสดงความประสงค์ต้องการที่จะฉีดวัคซีนจำนวนเท่าไร เพื่อจะได้จองวัคซีนให้กับคนเชียงใหม่ได้ทั้งหมด ทันทีที่กลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว เมื่อส่วนกลางประกาศให้เชียงใหม่สามารถเริ่มจองวัคซีนของกลุ่มประชาชนได้ จังหวัดเชียงใหม่จะได้รีบดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

สำหรับสถิติยอดการจองคิวรับการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นเขตในเมือง ซึ่งช่วงนี้จำนวนการจองรับการฉีดวัคซีนมีเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประชาชนนอกเขตเมือง เหตุเพราะการใช้ระบบของหมอพร้อมยังมีการติดขัดอยู่บ้าง คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีจำนวนผู้จองรับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นในหลักแสนได้

“อยากให้ความมั่นใจว่าวัคซีนซีโนแวคที่ฉีดไปนั้น ประเทศจีนเองได้ฉีดไปแล้วหลายร้อยล้านโดส ซึ่งไม่มีประเด็นปัญหา และประสิทธิภาพของวัคซีนอยากให้มองที่ความเป็นจริง ซึ่งบุคลากรของโรงพยาบาลนครพิงค์เองได้ฉีดไปประมาณพันกว่าคนโดยบุคลากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปนั้นไม่มีใครติดโรคในระลอกนี้เลยซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ในส่วนอันตรายต่าง ๆ แน่นอนว่าวัคซีนทุกตัวมีผลข้างเคียง ถ้าไม่มีผลข้างเคียงแสดงว่าเราไม่ได้ฉีดอะไรเข้าร่างกายเลย ซึ่งร่างกายเราต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในร่างกายอยู่แล้ว จะมากจะน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ซึ่งการจะเปิดจังหวัดเชียงใหม่ได้ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ของประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่ที่มีคนเยอะ ๆ และที่สำคัญพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว” นพ.วรเชษฐ เต๊ชะรัก ผอ.โรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวในที่สุด