สธ. เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด 19 ต่อ ประโยชน์มีมากกว่าไม่ฉีด

76

สธ. เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด 19 ต่อ ประโยชน์มีมากกว่าไม่ฉีด

blank

กระทรวงสาธารณสุข ให้ทุกโรงพยาบาลฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กลุ่มเป้าหมายและบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป หลังผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์พบเป็นอาการชั่วคราว ผลการตรวจสอบวัคซีนล็อตนั้นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าไม่มีความผิดปกติ ผลประโยชน์มีมากกว่าไม่ฉีด เตรียม 3 แนวทางจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 35 ล้านโดส

บ่ายวันนี้ (22 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,470 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 1,370 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 100 ราย รักษาหายเพิ่ม 477 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย ทำให้ระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 19,250 ราย กำลังรักษา 18,148 ราย และเสียชีวิตสะสม 23 ราย มีรายงานผู้ติดเชื้อใน 66 จังหวัด  พื้นที่ที่ยังเป็นปัญหาคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับจังหวัดต่าง ๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทำงานอย่างเข้มแข็งทุกจังหวัด ควบคุม สถานการณ์ได้ค่อนข้างดี บางจังหวัดออกมาตรการปรับผู้ไม่ใส่หน้ากากอนามัย

สำหรับผู้เสียชีวิต 7 รายวันนี้ โดยรายแรก เป็นหญิงอายุ 24 ปี เป็นโรคอ้วน มีประวัติไปสถานบันเทิง รายที่ 2 หญิงอายุ 68 ปี เป็นโรคภูมิแพ้ รายที่ 3 เป็นชายอายุ 83 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ประสาทหูเสื่อม โรคกระดูกสันหลัง รายที่ 4 หญิงอายุ 80 ปี เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยติดเตียง รายที่ 5 ชายอายุ 45 ปี เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รายที่ 6 ชายอายุ 59 ปี เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และรายที่ 7 ชายอายุ 86 ปี เป็นโรคหัวใจ จะเห็นว่าผู้เสียชีวิตทุกรายมีโรคประจำตัว เกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ ขอให้ระมัดระวังการใกล้ชิดกับครอบครัว ต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และงดกิจกรรมรวมกลุ่ม สำหรับท่านที่ยังปาร์ตี้ไม่เลิกคงต้องดำเนินการมาตรการการกฎหมายอย่างเด็ดขาด หากทุกคนร่วมมือกันตัวเลขการติดเชื้อจะลดลงภายใน 2 – 3 สัปดาห์

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 21 เมษายน 2564 ฉีดสะสม 864,840 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 746,617 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 118,223 ราย เฉพาะวันที่ 21 เมษายน ฉีดได้ 152,230 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 141,670 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 10,560 ราย เนื่องจากได้กระจายวัคซีนล็อต 1 ล้านโดสที่ได้รับในช่วงกลางเดือนเมษายนไปโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ครบ 100% ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบสนองต่อการระบาดของเชื้อในรอบนี้ ทำให้ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 348,458 คน เข็มที่ 2 จำนวน 56,833 คน

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อไปว่า สำหรับรายงานผู้ที่มีอาการแพ้คล้ายหลอดเลือดสมอง คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลเรื่องของอาการไม่พึงประสงค์ ได้ตรวจสอบพบว่าอาการกลับมาเป็นปกติในระยะเวลาอันรวดเร็ว ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ MRI ไม่มีรอยโรค และผลการตรวจสอบวัคซีนล็อตนั้นทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าไม่มีความผิดปกติ ระบบการส่งต่อภายใต้ลูกโซ่ความเย็นของวัคซีนก็ไม่มีปัญหา และวัคซีนที่เหลือฉีดไปแล้วไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ รวมทั้งผลประโยชน์ในการฉีดวัคซีนมีมากกว่าไม่ฉีด แนะนำให้ฉีดวัคซีนต่อไป โดยให้ระมัดระวัง เคร่งครัดมาตรฐานการฉีด และให้ความรู้ สื่อสารกับผู้ที่รับวัคซีน อย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีข่าวโรงพยาบาลลำปางหยุดฉีดวัคซีนเนื่องจากบุคลากรมีอาการแพ้นั้น ตรวจสอบแล้วพบเพียง 1 ราย มีอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง ส่วนที่เหลือมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปางแจ้งว่า เป็นการหยุดฉีดชั่วคราวระหว่างรอผลจากคณะกรรมการติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน ขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนต่อตามปกติ ไม่พบมีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น

ทั้งนี้ มี 3 คำที่อาจเกิดความสับสน คำแรกคือ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน (Adverse Events Following Immunization : AEFI) เป็นระบบเฝ้าระวังที่ใช้ติดตามหลังการฉีดวัคซีนทุกชนิด โดยเฉพาะวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนใหม่มาก ต้องมีระบบการจัดการที่เข้มงวด เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรง จะเข้าคณะกรรมการพิจารณาทุกครั้ง มีคณะผู้เชี่ยวชาญด้านที่เกี่ยวข้องกับอาการที่เกิดขึ้นร่วมพิจารณา และวินิจฉัยว่าอาการนั้น 1. ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ฉีดต่อไป 2.น่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน และ3. เกี่ยวข้องกับวัคซีน โดยคณะกรรมการจะมีคำวินิจฉัยให้ฉีดต่อไปหากจำนวนที่เกิดขึ้นเทียบกับวัคซีนที่ฉีดแล้ว ไม่ได้ผิดปกติจากมาตรฐาน ไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงมากขึ้นกว่าเดิม และประโยชน์ของการฉีดวัคซีนมีมากกว่าการหยุดฉีด หากเหตุการณ์นั้นรุนแรงมากกว่ามาตรฐาน และเป็นอันตรายต่อผู้ที่รับวัคซีน กล่าวคือ มีโทษมากกว่าประโยชน์ ก็จะให้หยุดฉีดวัคซีนนั้นถาวร กรณีที่ยังไม่แน่ใจ ยังมีข้อสงสัยจะให้หยุดฉีดชั่วคราว เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อน

ส่วนข้อสงสัยว่าวัคซีน 2 ล้านโดสหายไปไหน 1.4 ล้านโดสนั้น วัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส ฉีดได้ 1 ล้านคน (ฉีดคนละ 2 เข็ม) ได้รับครั้งแรกปลายเดือนกุมภาพันธ์จำนวน 2 แสนโดส เริ่มฉีดเดือนมีนาคม 1 แสนโดส และเก็บไว้ฉีดเข็มที่ 2 อีก 1 แสนโดสในอีก 4 สัปดาห์หน้า, ปลายเดือนมีนาคมได้รับอีก 8 แสนโดส เริ่มฉีดเดือนเมษายน ผ่านไป 10 วันฉีดได้ 5 แสนโดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 4 แสนโดส และเข็ม 2 อีก 1 แสนโดส และกลางเดือนเมษายนได้รับวัคซีนล็อตล่าสุด 1 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว 3 วัน รวม 2.5 แสนโดส รวมฉีดทั้งหมด 8.5 แสนโดส เป็นไปตามแผน ส่วนที่เหลืออยู่ที่โรงพยาบาลสำหรับฉีดทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 รวมทั้งสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน

สำหรับแผนการจัดสรรวัคซีนอีก 35 ล้านโดสนั้น เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย มีทั้งภาครัฐ เอกชน สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมร่วมประชุมได้ข้อสรุปว่า เราต้องการฉีดให้ครอบคลุมทุกคนในประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีด 70 ล้านโดส จะเพิ่มให้ได้ 100 ล้านโดส ขณะนี้เรามีวัคซีน 65 ล้านโดส จะต้องจัดหาอีก 35 ล้านโดส มี 3 แนวทางคือ 1.ให้ภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม ไปจัดซื้อเพิ่มเติม ขณะนี้เจรจาแล้วหลายบริษัท 2.ภาคเอกชน โดยสภาหอการค้า ยินดีบริจาคเงินให้รัฐบาลซื้อวัคซีน ฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย เช่น แรงงานในโรงงาน 10 ล้านโดส และ 3.โรงพยาบาลเอกชนขอจัดซื้อเอง เพื่อฉีดให้ผู้รับบริการของโรงพยาบาลเอกชน เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน คือ 1.มีระบบดูแลความปลอดภัยตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด 8 ขั้นตอน 2.ระบบรายงานเชื่อมต่อกัน  และ3.มีการติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน