สธ. เผยพบบุคลากรทางการแพทย์ 1 ราย มีอาการแพ้รุนแรงหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้ยังพบอีก 19 ราย มีอาการแพ้เช่นกัน แต่ไม่รุนแรง
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย โดยนายแพทย์โอภาสกล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2564 ฉีดวัคซีนครบแล้วทั้ง 13 จังหวัด รวม 7,262 ราย แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึง อสม. 6,784 ราย , เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 365 ราย ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 22 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 91 ราย อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนใหม่ จึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และมีระบบรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1.อาการไม่รุนแรง คือ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และปวดบริเวณที่ฉีด หากมีอาการเหล่านี้หลังฉีดขอให้รายงานในระบบไลน์หมอพร้อม และ 2.อาการรุนแรง ได้แก่ ไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง หรือชักหมดสติ ขอให้รีบโทรแจ้ง 1669 เพื่อแจ้งรถพยาบาลมารับหรือถ้าหมดสติให้ญาติรีบพาไปโรงพยาบาล
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า แม้วัคซีนจะมีความปลอดภัย แต่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ ขณะนี้ได้รับรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน 20 ราย โดยมีอาการไม่รุนแรง 19 ราย ได้แก่ ปวดอักเสบบริเวณที่ฉีด 1 ราย , เหนื่อย 12 ราย , ปวดเมื่อยตามตัว 4 ราย และคลื่นไส้อาเจียน 2 ราย ส่วนอีก 1 ราย มีอาการรุนแรง โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ รับการฉีดวัคซีนก่อนเที่ยง ช่วงเฝ้าระวังอาการที่สถานพยาบาล 30 นาที อาการปกติ แต่ผ่านไป 5 ชั่วโมง เริ่มมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มาโรงพยาบาลตรวจพบความดันโลหิตต่ำ ซึ่งรายนี้เคยมีประวัติแพ้ยาเพนิซิลลินในตอนเด็ก หลังจากรักษาอาการดีขึ้น ขณะนี้อาการปลอดภัย
“รายนี้ถือว่ามีอาการรุนแรงแต่ไม่มาก เนื่องจากเกิดในระยะเวลา 5 ชั่วโมงไปแล้ว มีความดันตก แต่ไม่มีผื่นขึ้น ส่วนจะเกิดจากวัคซีนหรือไม่ จะมีการรวบรวมข้อมูล ประวัติ และผลการตรวจต่างๆ ให้คณะกรรมการพิจารณารายละเอียดทั้งหมด คาดว่าผลจะออกมาภายในสัปดาห์นี้ ส่วนกรณีแพ้ยาเพนิซิลลินไม่ได้เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีน แต่ให้เพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากอาจแพ้สารอื่นๆ ได้ง่าย สำหรับสถานพยาบาลขอให้ดำเนินการฉีดวัคซีนตามระบบ 8 ขั้นตอนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการเฝ้าระวังอาการหลังฉีด 30 นาที เพราะส่วนใหญ่การแพ้วัคซีนอย่างรุนแรงมักเกิดขึ้นภายใน 15 นาที หากเกิน 30 นาทีส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและมีเวลาในการรักษา แนะนำว่าหลังฉีดวัคซีน แขนข้างที่ฉีดแล้วอย่าออกแรงหรือยกของหนัก ขอให้พัก 4 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้วัคซีนเข้าเส้นเลือดเร็วเกินไป ก็จะมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น” นายแพทย์โอภาสกล่าว