เชียงใหม่เตรียมออกประกาศห้ามเผา พร้อมสั่งให้ปิดป่า พ่อเมืองแจ้งทุกอำเภอส่งข้อมูลพื้นที่ต้องบริหารจัดการทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ก.พ. นี้

548

เชียงใหม่เตรียมออกประกาศห้ามเผา พร้อมสั่งให้ปิดป่า พ่อเมืองแจ้งทุกอำเภอส่งข้อมูลพื้นที่ต้องบริหารจัดการทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ก.พ. นี้

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 64 ที่ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประชุมคณะทำงานศูนย์บัญชาการฯ และนายอำเภอ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านระบบประชุมทางไกล เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการบริหารจัดการการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กฯ ในระดับพื้นที่

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวมอบเป็นนโยบายในที่ประชุมฯ ว่า ในภาพรวมมีพื้นที่ที่จะต้องดูแลอยู่ 2 พื้นที่ พื้นที่แรกเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง อีกหนึ่งพื้นที่ที่จะต้องให้ความสนใจโดยเฉพาะในห้วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนซึ่งเป็นห้วงที่มีสถิติการเกิดจุดความร้อนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเป็นพื้นที่ที่ต้องช่วยกันควบคุมไม่ให้เกิดไฟ หากดูสถิติการเกิดจุดความร้อนในปีนี้จะเห็นได้ว่า ในพื้นที่ควบคุมมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเป็นแนวทางใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่นำมาใช้ในปีนี้ซึ่งไม่ใช่จะให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว ไม่ใช่เพลินกับของใหม่แต่ลืมของเก่า จะต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ควบคุมด้วย

“พื้นที่ควบคุมที่เกิดไฟ ประการแรกอาจจะเกิดจากความประมาทในการเข้าไปเก็บของป่า แล้วทำให้เกิดไฟขึ้น อีกประการอาจจะมีผู้ไม่หวังดีไปจุดไฟ อาจจะวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้กระทั่งการเพิ่มพื้นที่ ในระดับพื้นที่มีการแบ่งแล้วว่า พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่บริหารจัดการ พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ควบคุม เรื่องนี้ทุกอำเภอต้องอย่าลืม การบริหารจัดการต้องดูความเหมาะสมทั้งเงื่อนเวลา ขนาดของพื้นที่ที่ต้องจัดการ รวมถึงสิ่งที่ต้องบริหารจัดการ และที่ต้องให้ความสำคัญด้วยคือ การทำแนวกันไฟ การลาดตระเวน เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้เกิดไฟในช่วงเวลากลางคืน เพราะไฟในเวลากลางคืนก่อให้เกิดการสะสมของฝุ่นควันเพราะอากาศเย็นก็จะต่อเนื่องจนถึงเช้า” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

นายเจริญฤทธิ์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการ กลุ่มใหญ่คือพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำกิน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา พื้นที่ในส่วนนี้ยังมีไม่มากส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ ที่น่าห่วงคือ ช่วงเดือนมีนาคมต่อเนื่องเดือนเมษายนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำกินจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ทุกฝ่ายต้องร่วมกันวิเคราะห์ว่าในการที่จะกำหนดการบริหารจัดการให้เหมาะสมทั้งเวลาและขนาดพื้นที่ ประเด็นนี้ทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอพื้นที่ต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนโดยเฉพาะพื้นที่ของประชาชนที่ต้องบริหารจัดการ เพราะความจำเป็นที่ต้องเตรียมพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกเวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจขยับหรือเลื่อนไปได้อีก ผิดกับพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานราชการซึ่งสามารถขยับได้

“แม้ว่าปีนี้ให้ในระดับตำบลเป็นผู้บริหารจัดการ ระดับอำเภอก็ต้องไม่ทิ้ง ต้องมีข้อมูล นำข้อมูลมากางเพื่อร่วมบริหารจัดการ ดังนั้นในวันประชุมนายอำเภอขอให้นายอำเภอทุกอำเภอนำข้อมูลปฏิทินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลของประชาชนที่จำเป็นต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน และเป็นข้อมูลเฉพาะพื้นที่ของประชาชนที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำกินเท่านั้น ให้ดูเป็นรายตำบลเพื่อการบริหารจัดการในภาพรวมทั้งอำเภอ” นายเจริญฤทธิ์ฯ กล่าว

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการตอบโต้สถานการณ์ในห้วงเดือนมีนาคมเดือนเมษายน ขอให้ร่วมกันพิจารณาว่า ป่าทั้งที่อยู่ในส่วนรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ก็ขอให้มีการประกาศปิดป่า เพื่อการป้องกันในการที่จะมีการเข้าไปเก็บของป่า ในส่วนของศูนย์ฯ ระดับตำบลก็ต้องพิจารณาถึงความเดือนร้อนของราษฎรในพื้นที่หลังจากที่มีประกาศปิดป่า ก็หามาตรการเยียวยาให้อย่างเช่น การนำมาช่วยการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่แล้วจัดหาเบี้ยเลี้ยงให้ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติไว้ก่อนแล้ว ซึ่งจะต้องบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่จะต้องช่วยเยียวยากลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ในการที่จะไม่ให้เข้าป่า

“เมื่อปิดป่าแล้วก็ต้องมีประกาศ ห้ามเผาเด็ดขาดในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ที่ต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ชัดไปเลยว่า พื้นที่ต่อไปนี้ ห้ามเผาเด็ดขาด หากเกิดไฟขึ้นระบุให้ชัดว่า ใครรับผิดชอบ ใครพบเห็นการเกิดไฟจะแจ้งได้ที่ไหน ในพื้นที่ป่าก็ให้เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลป่านั้นเป็นผู้รับแจ้ง ส่วนนอกพื้นที่ป่า ที่โล่ง ก็ให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ ผู้บริหาร อปท. ในการรับแจ้ง และที่ต้องมีประกาศอีกฉบับก็จะเป็นประกาศตาม พรบ.สาธารณสุขฯ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นต้องดำเนินการที่เป็นความผิดตาม พรบ.สาธารณสุขฯ ก็ให้สำนักงานสาธารณสุขฯ ในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายออกประกาศฉบับเดียวเพื่อให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดเชียงใหม่” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

“โดยสรุปหากมีการประกาศทั้งหมด นั่นหมายความว่า ประเด็นสำคัญในการจะบริหารจัดการก็คือ ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ให้ถือว่า หมดคำขอที่จะบริหารจัดการเชื้อเพลิง เรื่องในระดับพื้นที่ที่ต้องทบทวนก็คือ การรวบรวมข้อมูลความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงครบถ้วนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเงื่อนเวลาอาจจะกระทบต่อการเตรียมพื้นที่ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป จังหวัดเชียงใหม่ก็จะไม่รับข้อมูลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงอีก ดังนั้นในวันประชุมนายอำเภอขอให้นายอำเภอเป็นผู้ยืนยันข้อมูลด้วยตนเอง” นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว