แม่โจ้โพลล์เผย เกษตรกรชาวสวนลำไยร้อยละ 97.36 เห็นด้วยกับการชดเชยราคาลำไยไร่ละ 2,000 บาท คาดหวังการตั้ง “สถาบันลำไย” เป็นตัวกลางในการจัดหาตลาด

639

เกษตรกรชาวสวนลำไย ร้อยละ 97.36 เห็นด้วยกับการชดเชยราคาลำไยไร่ละ 2,000 บาท คาดหวังการตั้ง “สถาบันลำไย” เป็นตัวกลางในการจัดหาตลาด

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรชาวสวนลำไยในพื้นที่ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงราย ร้อยละ 28.87 จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 32.75 จังหวัดลำพูน ร้อยละ 30.63 จังหวัดลำปาง ร้อยละ 3.35 และจังหวัดพะเยา ร้อยละ 4.40) จำนวนทั้งสิ้น  568 ราย ระหว่างวันที่ 25 กันยายน – 5 ตุลาคม 2563  ในหัวข้อ “วิกฤติโควิด..วิกฤติผลผลิตลำไยไทย ทางออกและการเยียวยาจากภาครัฐ”  มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรชาวสวนลำไยเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตลำไยและราคาผลผลิตในฤดูกาลปัจจุบัน ผลการสำรวจพบว่าเกษตรกรชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.65 ได้รับผลกระทบจากกรณีราคาลำไยตกต่ำ

เมื่อสอบถามถึงปริมาณลำไยของเกษตรกรชาวสวนลำไยในปีล่าสุด พบว่า เกษตรกรชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.43 มีผลผลิตที่ลดลง และอีกร้อยละ 22.89 มีผลผลิตเท่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับฤดูกาลการผลิตที่ผ่านมา มีเพียง 9.68 ที่มีผลผลิตลำไยคุณภาพที่เพิ่มสูงขึ้น

จากการสอบถามถึงการรับรู้ รับทราบโครงการเยียวยา/ชดเชยเกษตรกรชาวสวนลำไย 2,000 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 25 ไร่ เกษตรกรชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.93 รับทราบถึงโครงการดังกล่าว โดยมีเพียง ร้อยละ 20.07 ที่ไม่ทราบ

ด้านต้นทุนการผลิตลำไย เกษตรกรชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.07 พบว่า มีต้นทุนในการผลิตลำไยมากกว่า 2,001 บาท/ไร่ รองลงมา ร้อยละ 29.93 มีต้นทุนในการผลิตลำไย ไม่เกิน 2,000 บาท/ไร่

เมื่อสอบถามถึงการได้รับสิทธิ์ในโครงการเยียวยาชดเชยเกษตรกรชาวสวนลำไย พบว่า เกษตรกรชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.90 อยู่ในข่ายได้รับสิทธิ์ มีเกษตรกรชาวสวนลำไยเพียง ร้อยละ 17.78 ที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิ์ และร้อยละ 15.32 ไม่แน่ใจว่าจะได้รับสิทธิ์ในการเยียวยาหรือไม่

และเมื่อสอบถามความคิดเห็นโครงการเยียวยาชดเชยเกษตรกรชาวสวนลำไย 2,000 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 25 ไร่ ของทางภาครัฐ เกษตรกรชาวสวนลำไยส่วนใหญ่ ร้อยละ 97.36 เห็นด้วยกับโครงการ ซึ่งมีเพียง ร้อยละ 2.64 ที่ไม่เห็นด้วย โดยได้ให้เหตุผลว่าเนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ (ร้อยละ 66.67) และเงินงบประมาณในการเยียวยาน้อยเกินไป (ร้อยละ 33.33)

สำหรับความคาดหวังที่มีต่อ “สถาบันลำไย” พบว่า อันดับ 1 ช่วยเป็นตัวกลางในการจัดหาตลาดระบายลำไยคุณภาพลำไยเกรด B / C / D ให้กับเกษตรกร (ร้อยละ 82.57) อันดับ 2 ช่วยยกระดับคุณภาพลำไยเกรด B / C / D ให้มีราคาที่ดีขึ้น (ร้อยละ 80.99) อันดับ 3 ช่วยยกระดับคุณภาพลำไยเกรด AAA / AA /  A ให้มีคุณภาพที่ดีและราคาที่สูงขึ้น (ร้อยละ 76.41) และอันดับสุดท้าย ช่วยคิดค้นนวัตกรรมการแปรรูปผลผลิตลำไยที่เป็นส่วนเกิน เพื่อส่งออกขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ร้อยละ 32.75)

นานมาแล้วที่เกษตรกรภาคเหนือเคยร่ำรวยจากการขายลำไย จนถึงกับเปลี่ยนแปลงพื้นที่นา และพื้นที่ทำการเกษตรอื่น ๆ ให้กลายเป็นสวนลำไยอย่างกว้างขวาง ทำให้ราคาลำไยสดผันผวน ซึ่งในแต่ละฤดูกาลราคาลำไยสดจะแตกต่างกันออกไปและด้วยสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับศึกหลายด้านที่นอกเหนือจากศึกด้านเศรษฐกิจแล้วนั้น ประเทศยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบบของ COVID-19 ทำให้ลำไยซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรรายได้หลักของเกษตรกรภาคเหนือได้รับผลกระทบตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐก็ไม่นิ่งนอนใจได้ระดมความคิดเห็นหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไย โดยการจัดตั้ง “สถาบันลำไย” ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวกลางในการจัดหาตลาดระบายลำไยคุณภาพเกรด B / C / D ให้เกษตรกรและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวชวนลำไยให้ดีขึ้น

b7zjm9.jpg