สดร. เผยวัตถุประหลาด อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ คาดเป็นหินภูเขาไฟไม่ใช่อุกกาบาต

1510

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชี้แจงกรณีมีผู้พบวัตถุประหลาดได้ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม นั้นคาดว่าเป็นหินภูเขาไฟ ไม่ใช่อุกกาบาตแต่อย่างใด

      ตามที่มีรายงานเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาว่ามีชาวบ้านพากันค้นหาหินอุกกาบาตในพื้นที่ป่าชุมชนเขตติดต่อหมู่บ้านแม่สะต๊อก บ้านนาฮ่อง ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งพบเห็นลำแสงพุ่งตกจากฟ้าลงมาในบริเวณดังกล่าว ได้สันนิษฐานกันว่าเป็นอุกกาบาตและพากันออกตามหา ก่อนพบกับวัตถุประหลาดขนาดเท่าลูกฟุตบอล แต่เก็บไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ใครทราบ จนกระทั่งมีข่าวแพร่สะพัดขึ้นมา ทางอำเภอแม่แจ่มจึงนำวัตถุดังกล่าวส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

-ชาวแม่แจ่มตื่น! แห่เก็บหินประหลาดคล้ายลูกอุกกาบาต หลังช่วงต้นเดือนสิงหาที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่พบแสงประหลาดตกลงมาจากท้องฟ้า

120042270 3533375340059388 5327647127760171651 o

จากหลักฐานที่รวบรวมได้ พบว่าวัตถุที่พบมีลักษณะเป็นรูพรุน น้ำหนักเบากว่าหินและโลหะทั่วไป รูปร่างคล้ายวัตถุที่ถูกเผาไหม้ด้วยความร้อนจนหลอมละลายแล้วเย็นตัวลง หลังจากสังเกตและวิเคราะห์ด้วยลักษณะทางกายภาพ เบื้องต้นคาดว่า ไม่ใช่หินอุกกาบาต เนื่องจาก ลักษณะของอุกกาบาตจะไม่เป็นรูพรุน และอาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นหินประเภทหินอัคนีพุ (Extrusive Rock) หรือหินภูเขาไฟ (Volcanic Rock) ที่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้วในอดีต เกิดจากการเย็นตัวและตกผลึกของลาวาเหลวพวกที่มีไอน้ำ แก๊สและสารละลายอื่น ๆ ปนอยู่มาก เมื่อลาวาขึ้นมาบนผิวโลกและเย็นตัวลง ฟองแก๊สเหล่านี้จึงทำให้เกิดโพรง ดูเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ

นอกจากนี้ จากข้อมูลแผนที่ธรณีวิทยาของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า หินอัคนีสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ รวมทั้งบริเวณอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องลำแสงพุ่งตกจากฟ้าในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนั้น คาดว่าเป็นดาวตก โดยปกติเราสามารถสังเกตเห็นดาวตกได้ในทุกคืน เนื่องจากในอวกาศมีเศษฝุ่นละอองที่ดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางเหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีโอกาสสังเกตเห็นได้ ซึ่งในเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่มีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) หรือฝนดาวตกวันแม่พอดี การที่มีผู้พบเห็นลำแสงดังกล่าวประกอบกับพบวัตถุปริศนา จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอุกกาบาต ทั้งนี้ ได้แนะนำวิธีพิจารณาวัตถุต้องสงสัยเบื้องต้นจากรูปพรรณสัณฐาน ดังนี้

1. สังเกตรูปร่างของวัตถุ รูปทรงของอุกกาบาตส่วนใหญ่จะมีลักษณะไม่สมมาตร เนื่องจากขณะที่วัตถุเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศจะเกิดความร้อนสูง ส่งผลให้รูปร่างของอุกกาบาตเปลี่ยนไป จากรูปทรงกลมหรือเกือบกลม กลายเป็นรูปทรงไม่สมมาตร

2. สังเกตจากสีผิวชั้นนอกของวัตถุ ผิวของอุกกาบาตที่เพิ่งตกลงบนพื้นโลกจะเป็นสีดำสนิท แต่หากเป็นอุกกาบาตที่ตกอยู่บนพื้นโลกเป็นเวลานานแล้ว จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นสีที่เกิดขึ้นจากสนิม

3. สังเกตจากลักษณะของผิวชั้นนอก ลักษณะผิวของอุกกาบาต โดยเฉพาะอุกกาบาตหินจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากหินทั่วไปคือมี “เปลือกหลอม” (fusion crust) เป็นเปลือกบาง ๆ สีดำประกาย เกิดจากการเผาไหม้ขณะอยู่ในชั้นบรรยากาศ และมักจะมีสีเข้มกว่าหินทั่วไป ส่วนอุกกาบาตเหล็กจะมีสีดำคล้ำและมีร่องรอยปรากฏเป็นร่องหลุมโค้งเว้า (regmaglypt) คล้าย ๆ กับรอยนิ้วโป้งที่เรากดลงบนก้อนดินน้ำมัน

4. ก้อนวัตถุต้องสงสัยต้องไม่มีรูพรุน หรือฟองอากาศอยู่ด้านในเด็ดขาด เนื่องจากอุกกาบาตทุกประเภทก่อตัวขึ้นในอวกาศ ซึ่งในสภาพแวดล้อมนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่อุกกาบาตจะก่อตัวแล้วมีรูพรุน หากพบก้อนวัตถุที่มีลักษณะรูพรุนอาจจะเป็นตะกรันโลหะจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม หรืออาจจะเป็นหินบางประเภทที่พบบนพื้นโลก เช่น หินสคอเรีย (Scoria) เป็นหินภูเขาไฟ มีน้ำหนักเบาสามารถลอยน้ำได้ หรือหินไบโอไทต์ (Biotite) เป็นแร่ชนิดสีดำที่พบได้ทั่วไปในหินอัคนี

5. ตรวจสอบด้วยแม่เหล็ก โดยทั่วไปอุกกาบาตเกือบทุกประเภทจะดูดติดกับแม่เหล็กได้ หากวัตถุนั้นไม่ดูดติดกับแม่เหล็กก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าไม่ใช่อุกกาบาต แต่ถึงแม้วัตถุสามารถดูดติดแม่เหล็กได้ก็ไม่ได้หมายความว่ามันคืออุกกาบาต 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าอาจจะเป็นอุกกาบาต

120060654 3533326483397607 101828568092630973 o
120134370 3533325990064323 6280820357728314850 o
120166626 3533326836730905 5914265396369744289 o
120202206 3533326940064228 6021628549037264216 o
120251460 3533326136730975 8064527365481358216 o

เรียบเรียง : นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ – หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ / NARIT