เตรียมขยายอายุพาสปอร์ตรุ่นใหม่จาก 5 ปี เป็น 10 ปี ยืนยันพาสปอร์ตรุ่นใหม่ ได้มาตรฐานโลก

8283

เตรียมขยายอายุพาสปอร์ตรุ่นใหม่จาก 5 ปี เป็น 10 ปี ยืนยันพาสปอร์ตรุ่นใหม่ ได้มาตรฐานโลก

     เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 นายธานี ทองภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวโดยกล่าวอ้างว่า กระทรวงฯ ได้ลดคุณลักษณะการรักษาความปลอดภัยของเล่มหนังสือเดินทางเพื่อให้ราคาต่ำลงและอาจถูกปฏิเสธเข้าเมืองได้ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ในการดำเนินโครงการจ้างผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 กระทรวงการต่างประเทศมุ่งเน้นการปรับปรุงการให้บริการและคุณลักษณะของหนังสือเดินทางให้ดียิ่งขึ้นเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยของประชาชน อาทิ การเปิดสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวในต่างจังหวัดมากขึ้น การปรับปรุงกระบวนการในการรับคำร้องจะใช้เวลาไม่เกิน 12 นาทีจากไม่เกิน 20 นาทีในปัจจุบัน และผู้ที่ต้องการทำหนังสือเดินทางที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถเลือกได้ว่าจะทำหนังสือเดินทางอายุใช้งาน 5 ปีหรือ 10 ปี เป็นต้น

2. ในส่วนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน โดยโครงการจ้างผลิตหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 เป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (Superboard) อีกทั้งเป็นโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งมีผู้สังเกตการณ์อิสระจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย เข้าร่วมด้วยในทุกขั้นตอน ตลอดจนมีการแต่งตั้งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกเป็นกรรมการในคณะกรรมการทุกชุดด้วยเช่นกัน

3. การพิจารณาข้อเสนอสำหรับโครงการจ้างผลิตหนังสือเดินทางครั้งนี้ใช้เกณฑ์การประเมิน price performance ซึ่งได้กำหนดสัดส่วนคะแนนด้านราคาไว้ที่ร้อยละ 40 และคะแนนด้านประสิทธิภาพไว้ที่ร้อยละ 60 ผู้ชนะจึงอาจไม่ใช่ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด แต่ต้องเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ได้คะแนนราคา-ประสิทธิภาพรวมสูงสุด ดังนั้น การที่กล่าวอ้างว่าโครงการนี้ขาดความโปร่งใสและมุ่งลดราคาหาผู้ชนะประมูล จึงคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง

4. กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับคุณลักษณะความปลอดภัยของหนังสือเดินทางมาโดยตลอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือเดินทางรุ่นใหม่ที่ได้เพิ่มการจัดเก็บข้อมูลชีวมาตรเพิ่มขึ้นจากเดิมโดยจะมีการจัดเก็บม่านตา (iris) เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บเพียงใบหน้าและลายนิ้วมือ ซึ่งข้อมูลชีวมาตรดังกล่าวเป็นคุณลักษณะความปลอดภัยสำคัญสูงสุดในการป้องกันการปลอมแปลงหนังสือเดินทาง ทั้งนี้ ผู้ชนะประกวดราคาได้คะแนนในส่วนของเกณฑ์ประสิทธิภาพด้านคุณลักษณะความปลอดภัยสูงเป็นลำดับแรก

5. หนังสือเดินทางรุ่นใหม่ของไทยมีมาตรฐานสูงกว่าที่ ICAO กำหนด และมีคุณลักษณะความปลอดภัยมากกว่าที่กำหนดไว้ใน TOR โครงการระยะที่ 2 ข้อกล่าวอ้างว่าได้มีการลดสเป๊กความปลอดภัยของหนังสือเดินทางจึงไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ขอเรียนว่า TOR ของโครงการนี้ได้กำหนดคุณลักษณะให้เปิดกว้างรับเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้อยู่เดิม หรือเทคโนโลยีใหม่ แต่ที่สำคัญรูปแบบด้านความปลอดภัยต้องเทียบเท่าหรือดีกว่าที่กำหนดไว้ในระยะที่ 2

6. ในส่วนการ “สร้างภาพเสมือนจริงด้วยเลเซอร์เป็นรูปใบหน้าของผู้ถือหนังสือเดินทางบนหน้าข้อมูล” นั้น เป็นข้อกำหนดที่สูงกว่าที่ ICAO กำหนด โดย ICAO ได้กำหนดมาตรฐานคุณลักษณะความปลอดภัยในส่วนของคุณลักษณะของเทคโนโลยีการป้องกันการปลอมแปลงภาพถ่ายให้เป็นเพียง “additional portrait image(s)” ในเอกสาร Doc 9303 ข้อ A.5.4.4 ซึ่งเป็นการกำหนดคำนิยามไว้อย่างกว้าง เพื่อไม่เป็นการชี้นำหรือสนับสนุนเทคโนโลยีของผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ยื่นข้อเสนอว่าจะใช้เทคโนโลยีใด การกล่าวอ้างที่ว่ากระทรวงการต่างประเทศได้ปรับลดคุณสมบัติหนังสือเดินทางลงจากปัจจุบันทำให้ปลอมแปลงได้ง่ายจึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

อนึ่ง หนังสือเดินทางไทยในปัจจุบันใช้เทคโนโลยี Image Perforation มาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้มานานกว่า 20 ปีแล้ว และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาที่สมควรได้รับการพิจารณาด้วย โดยปัจจุบันมีหลายประเทศหันมาใช้เทคโนโลยี Window Lock ที่ผู้ยื่นข้อเสนอที่ชนะการประมูลครั้งนี้จะนำมาใช้ในการสร้างภาพเสมือนจริงด้วยเลเซอร์แล้ว เช่น ฟินแลนด์ และสิงคโปร์ เป็นต้น

7. โดยสรุป หนังสือเดินทางรุ่นใหม่ของไทยจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ จะมีมาตรฐานสูงกว่าที่ ICAO กำหนด และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อนำไปใช้ในต่างประเทศจะไม่ประสบปัญหาตามที่ได้มีการกล่าวอ้าง

ข้อมูล : กระทรวงการต่างประเทศ