แพทย์เผย “ผักไฮโดรโปนิกส์” กินได้ปลอดภัยไม่เสี่ยงมะเร็ง แต่ควรล้างทำความสะอาดอย่างถูกวิธี

356

แพทย์เผย “ผักไฮโดรโปนิกส์” กินได้ปลอดภัยไม่เสี่ยงมะเร็ง แต่ควรล้างทำความสะอาดอย่างถูกวิธี

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีการส่งต่อข้อความผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในลักษณะ “บริโภคผักไฮโดรโปนิกส์เสี่ยงเป็นมะเร็ง โดยงานวิจัยเมื่อ 3 ปีที่แล้วโรงพยาบาลใหญ่ 5 แห่งใน กทม. วิจัยสาเหตุมะเร็งเพิ่มขึ้น 300% เกิดจากกินผักไฮโดรโปนิกส์ เพราะตัว P (ฟอสฟอรัส) มากเกินขนาดเป็นสาเหตุเกิดมะเร็งเต้านม” ซึ่ง อย. ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้ว พบว่าข้อความที่ถูกส่งต่อนั้นมีการส่งต่อวนกลับมาเป็นระยะ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ใช่ผักออร์แกนิค ดังนั้นจึงสามารถใช้สารเคมีในการเพาะปลูกได้แต่ต้องปฏิบัติตามหลักทางการเกษตร และมีปริมาณสารพิษตกค้างรวมทั้งสารปนเปื้อนไม่เกินปริมาณตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกําหนด ปัจจุบันยังไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือมีงานวิจัยทั้งในประเทศและระดับนานาชาติยืนยันว่า ฟอสฟอรัสเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็งเต้านม รวมถึงยังไม่มีการยืนยันว่าสารไนเตรทที่พบอยู่ตามธรรมชาติในอาหาร ซึ่งถูกเปลี่ยนเป็น ไนไตรด์ในระบบการย่อยอาหารทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง สำหรับความกังวลเรื่องปริมาณสารไนเตรทในผักไฮโดรโปนิกส์ปริมาณสูง เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งนั้น ความเป็นจริงไนเตรทเป็นสารที่พบได้ทั้งผักที่ปลูกในดินและผักไฮโดรโปนิกส์  ถ้าพืชมีการเจริญเติบโตและสังเคราะห์แสงที่เป็นปกติ โอกาสที่จะเกิดการสะสมไนเตรทจนถึงระดับที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคจึงมีน้อยมาก นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่เคยเสนอคณะกรรมการอาหารพิจารณาในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ที่แน่ชัด

รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อข้อความที่ส่งต่อกัน เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันว่าบริโภคผักไฮโดรโปนิกส์แล้วเสี่ยงเป็นมะเร็ง ทั้งนี้ หากกังวลเรื่องปริมาณไนเตรท อาจใช้วิธีนึ่งหรือต้มผักเป็นเวลา 10 นาที หรือนำผักแช่ในน้ำสารละลายด่างทับทิมและน้ำเกลือจะช่วยลดปริมาณไนเตรทได้ และไม่ควรกินผักหรือผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ ควรกินให้หลากหลายหมุนเวียนกันไป หรือบริโภคผักผลไม้ตามฤดูกาลและบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ ลดการรับพิษสะสม รวมถึงควรเลือกซื้อผักที่ได้รับตรารับรองคุณภาพ GAP, GMP หรือตรารับรองเกษตรอินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค