กระทรวงการคลัง เผยเศรษฐกิจไทยปี 63 คาดหดตัวที่ร้อยละ -8.5 จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19

253

กระทรวงการคลัง เผยเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -8.5 จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และคาดว่าจะสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปี 2564 ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0”

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ว่า “เศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -9.0 ถึง -8.0) จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักหดตัวลง โดยเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวที่ร้อยละ -11.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -11.5 ถึง -10.5) ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยจะหดตัวที่ร้อยละ -82.9 นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.1 ถึง -2.1) และ -12.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -13.1 ถึง -12.1) ตามลำดับ สอดคล้องกับทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ การโอนงบประมาณตามพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 ถึง 4.8) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.2 ถึง 10.2)

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาของรัฐบาล ระยะที่ 1-3 และมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดการหมุนเวียนกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไป ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 และจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 จะอยู่ที่ร้อยละ -1.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.8 ถึง -0.8) ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงและอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 13.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.7 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 ถึง 3.2 ของ GDP)”

โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในระยะต่อจากนี้ไปปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศต่าง ๆ ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลายลง ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2563 และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลรวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จะช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการดิจิทัลและธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ให้ขยายตัวได้ดี กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1-3 เป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และจะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ มาตรการดังกล่าวจะเป็นรากฐานสำคัญให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงเมื่อวิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไป ทั้งนี้ กระทรวงการคลังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0 ในปี 2564 และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป”

EhSGG9.jpg