เภสัช เร่งวิจัยพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ รักษาโควิด-19 คาดใช้เวลาผลิต 1 ปี

323
เภสัช เร่งวิจัยพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ รักษาโควิด-19 คาดใช้เวลาผลิต 1 ปี

เภสัช เร่งวิจัยพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ รักษาโควิด-19 คาดใช้เวลาผลิต 1 ปี

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยืนยันว่า มียาใช้เพียงพอ ซึ่งได้วางแผนบริหารจัดการเพื่อให้มียาที่จำเป็นสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด 19 ภายในประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในภาวะวิกฤติและระยะยาว

มียาที่ใช้ร่วมกัน 7 รายการ อภ.ผลิตเอง 5 รายการ ได้แก่

ยาคลอโรควิน รักษาโรคมาลาเรีย สำรองไว้ 1.8 ล้านเม็ด

ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสม โลพินาเวียร์ และริโทรนาเวียร์ (Lopinavir / Ritonavir) สำรองไว้ 30.6 ล้านเม็ด

ยาต้านไวรัสเอดส์ดารุนาเวียร์ (Darunavir) สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด

ยาต้านไวรัสเอดส์ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด

ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สำรองไว้ 3.4 ล้านเม็ด

ส่วนยาอีก 2 รายการ คือ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ได้จัดซื้อจากผู้ผลิตในประเทศแล้ว 1.09 ล้านเม็ด และยาฟาวิพิราเวียร์ ได้มีการจัดซื้อแล้ว 187,000 เม็ด จาก 2 แหล่งผลิตหลัก คือ บริษัท FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท Zhejiang Hisun Pharmaceutical Company ประเทศจีน ได้กระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ แล้วประมาณ 100,000 เม็ด

มียาสำรองในคลังของ อภ.ประมาณ 87,000 เม็ด และจะส่งมอบเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมเพื่อสำรองไว้อีก 303,860 เม็ด (จากประเทศญี่ปุ่น 103,860 เม็ด ที่เลื่อนการส่งมอบมาจากในปลายเดือนเมษายน และส่งมอบจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 200,000 เม็ด) จะทำให้มียาฟาวิพิราเวียร์ใช้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ความคืบหน้าการพัฒนายาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ อยู่ระหว่างการสั่งซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ ขยายขนาดการผลิต ศึกษาความคงสภาพและประสิทธิผลทางชีวสมมูล (Bioequivalence study) เพื่อศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบต่อไป คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปีจะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ คาดแล้วเสร็จภายใน 3 – 6 เดือน และจะเริ่มผลิตวัตถุดิบในระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้ในเดือน มิ.ย.64

Cr. สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์