เตรียมพร้อมคืนนี้ ชวนชมและถ่ายภาพ “ซูเปอร์ฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี

7501

เตรียมพร้อมคืนนี้ ชวนชมและถ่ายภาพ “ซูเปอร์ฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี

      สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แนะนำหลากวิธีถ่ายภาพ “ซูเปอร์ฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนวันที่ 8 เมษายน 2563

ซูเปอร์มูน

     นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า วันพุธที่ 8 เมษายน 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ห่างจากโลก 357,022 กิโลเมตร หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่า 7% และสว่างกว่า 16% สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:52 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ผู้สนใจสามารถรอชมและเก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์ได้ในคืนดังกล่าว

blank

      นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ เพิ่มเติมว่า ดวงจันทร์จะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee)มีระยะทางเฉลี่ย 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee)มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

      แม้ว่าดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่อาจไม่ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง สำหรับ “ดวงจันทร์เต็มดวงและใกล่้โลกที่สุดในรอบปี”ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ห่างประมาณ 357,454 กิโลเมตร

     นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่าเป็นโอกาสดีสำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์ ซึ่งสามารถถ่ายได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกเปรียบเทียบกับช่วงเต็มดวงไกลโลกด้วยอุปกรณ์เดียวกัน การถ่ายภาพจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า การถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลกกับบุคคล และการถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนท้องฟ้า

1) การถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก เปรียบเทียบกับ ช่วงเต็มดวงไกลโลก ด้วยอุปกรณ์เดียวกัน เป็นรูปแบบที่นักดาราศาสตร์นิยมถ่ายภาพกันมากที่สุด แต่ต้องรอเวลาหลายเดือนเพื่อให้ได้ภาพช่วงดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกมากที่สุด หรือ “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) โดยในปีนี้เกิดขึ้นตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม 2563

2) การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า หรือ “Moon Illusion” เพื่อแสดงให้เห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกมากที่สุด ผู้ถ่ายต้องหาตำแหน่งที่ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้า และวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ และควรมีระยะห่างจากผู้ถ่ายไกลหลายกิโลเมตร

3) การถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลกกับบุคคล การถ่ายภาพเทคนิคนี้เป็นรูปแบบการถ่ายภาพที่สนุกมากทีเดียว เพราะตัวแบบกับคนถ่ายไม่จำเป็นต้องอยู่ไกลกันมากนัก (ประมาณ 100 เมตร) แล้วแต่ผู้ถ่ายภาพจะออกแบบและสร้างสรรค์ภาพถ่ายขึ้นมาตามอัธยาศัย

4) การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนท้องฟ้า (เครื่องบิน) การถ่ายภาพดวงจันทร์ Super Full Moon ในช่วงที่เครื่องบินกำลังบินผ่านดวงจันทร์พอดี นอกจากจะเป็นความบังเอินที่พอดีกันแล้ว หากเราลองเช็คตารางบินดูจากแอพพลิเคชั่น Flightradar24 ก็จะทราบเวลาการขึ้น-ลง และเส้นทางการบินได้ แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพเครื่องบินบินผ่านหน้าดวงจันทร์นั้น ต้องอาศัยจังหวะและตำแหน่งของวัตถุที่เหมาะสมกันพอดี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดรุนแรงของไวรัสโคโรนาในช่วงนี้ จึงทำให้เที่ยวบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศงดบินชั่วคราว แต่ยังสามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้กับสัตว์ปีก หรือวัตถุอื่นได้ เช่น นก ค้างคาว ดาวเทียม ฯลฯ

ผู้ที่สนใจสามารถรอชมปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ซูเปอร์ฟูลมูน” และเก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์กันได้ ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะขึ้นทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. เป็นต้นไป ปรากฏบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

ติดตามบทความถ่ายภาพดาราศาสตร์เพิ่มเติมได้ที่ https://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/887-8

อธิบายภาพตามไฟล์แนบ :
001 – ภาพถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ
002 – ภาพเปรียบเทียบขนาดดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุดในรอบปีกับภาพดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี 2562
003 – ภาพถ่าย Moon Illusion โดยการถ่ายดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ
(Camera : Canon 7D / Lens : Astrotech 5 Inch / Focal length : 1,200 mm. / Aperture : f/8 / ISO : 800 / Exposure : 1/800s)
004 – ตัวอย่างภาพถ่ายดวงจันทร์กับบุคคล
005 – ภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวง ในช่วงจังหวะที่เครื่องบินกำลังบินผ่านดวงจันทร์พอดี
(Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Takahashi TOA 150 + Extender 1.5X / Focal length : 1650 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 1600 / Exposure : 1/320 sec)

พระจันทร์ดวงใหญ่