สรรพสามิตภาค 5 ย้ำ สุราที่จำหน่ายในท้องตลาด ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่เพียงพอป้องกันเชื้อโควิด

344
สรรพสามิตภาค 5

สรรพสามิตภาค 5 ย้ำ สุราที่จำหน่ายในท้องตลาด ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่เพียงพอป้องกันเชื้อโควิด

สรรพสามิตภาค 5 ชี้แจง หน่วยงานหรือประชาชนสามารถยื่นเรื่อง ขอเป็นผู้ขอใช้แอลกอฮอล์หรือสุราสามทับ เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือเพื่อป้องกันโควิด 19 ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพสามิตกำหนด ส่วนสุราทั่วไปในท้องตลาด ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่เพียงพอที่จะป้องกันเชื้อ ขอประชาชนอย่าสับสน  จากกรณีที่ประชาชนเกิดความสงสัยเรื่อง สุราสามทับ จนนำไปสู่เรื่องการเข้าใจผิดว่าสุราหรือเหล้า นำมาป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ และกลายเป็นกระแสในการซื้อสุราขาวที่แอลกอฮอล์มีความแรงไปใช้ล้างมือ หรือทำความสะอาด เพราะเชื่อว่าสามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ นายปัณณทัต ใจทน ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 5 เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตมีนโยบายสนับสนุนการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด-19 จึงต้องการให้ประชาชนมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ ที่นำเอาแอลกอฮอล์ไปใช้เป็นส่วนผสม ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนด อย่างทั่วถึงและราคาไม่สูงเกินความเป็นจริง จึงได้ออกประกาศ

กรมสรรพสามิต ให้หน่วยงานหรือประชาชนทั่วไปสามารถยื่นเรื่องเป็นผู้ขอใช้แอลกอฮอล์ หรือสุราสามทับ แปลงสภาพ เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ เช่น แอลกอฮอล์น้ำ แอลกอฮอล์สเปรย์ หรือเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์ว่า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่ผลิตขึ้นนั้น ผู้จะขอใช้ต้องได้รับอนุญาตเป็นผู้ขอใช้จากสรรพสามิตพื้นที่ก่อน และต้องนำแอลกอฮอล์ที่จัดหาได้นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือเท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่ผลิตได้ จะต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่า 70% ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดด้วย ส่วนสุราที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด ทั้งสุราต่างประเทศหรือสุราในประเทศ มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมเพียงไม่เกิน 42 % เท่านั้น หากนำไปทำความสะอาดมือ ย่อมไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

นายปัณณฑัต ใจทน กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนคำว่าสุราสามทับ เป็นศัพท์บัญญัติตามกฎหมายสรรพสามิต หมายถึงสุรากลั่นที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมตั้งแต่ 80% ขึ้นไป หรือที่ประชาชนเรียกว่าหัวเหล้า การผลิตสุราสามทับต้องใช้กรรมวิธีพิเศษในการผลิต และผลิตขึ้นจากพืชจำพวกแป้ง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และพืชที่ให้ความหวาน เช่น อ้อย อาจนำไปใช้ประโยชน์ได้แตกต่างกัน โดยจำแนกตามการใช้ประโยชน์เป็น 3 ประเภท คือ

1. นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น ผลิตยา น้ำยาบ้วนปาก ทำความสะอาดเครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดมือ ทำความสะอาดเครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันมีความจำเป็นมาก

2. นำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตสุราเพื่อการบริโภค

3. นำไปเป็นส่วนผสมของปิโตรเคมี โดยนำไปเป็นส่วนผสมกับน้ำมัน

ปัจจุบัน กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน มีมาตรการส่งเสริมให้มีการนำแอลกอฮอล์ทุกภาคส่วน มาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ เพื่อลดการขาดแคลนแอลกอฮอล์ที่นำไปใช้ทางการแพทย์ กรณีที่จังหวัดหรือองค์กรใดๆ ในจังหวัดที่มีความประสงค์จัดหาแอลกอฮอล์เป็นวัตถุดิบผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ สามารถติดต่อโดยตรงกับสรรพสามิตพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ เพื่อสนับสนุนการจัดหาแอลกอฮอล์ให้ต่อไป

ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 5 และสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่เชียงใหม่ ได้รับมอบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือชนิดแอลกอฮอล์เหลวจากกรมสรรพสามิต จำนวน 1,000 ลิตร ส่งมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมอบให้โรงพยาบาลนครพิงค์ พิจารณาจัดสรรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ และจะทยอยส่งมอบจนครบ 6,000 ลิตร ภายใน 30 วัน

สรรพสามิตภาค 5

*****************

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
26 มีนาคม 2563