สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร แหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ครบวงจรแห่งใหม่ของไทย

708
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร แหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ครบวงจรแห่งใหม่ของไทย

     สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีเปิด “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” ในวันที่ 27 มกราคม 2563 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอย่างเป็นทางการ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่แห่งนี้จะเป็น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษา ค้นคว้าวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์ของประเทศ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ครบวงจรแห่งใหม่ของไทย พร้อมเปิดบริการประชาชน 1 กุมภาพันธ์ 2563 นี้

(1)

     เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และคณะกรรมการจัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ ภริยารองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย

(8)

     เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาพิธี ทรงประทับพระราชอาสน์ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กราบบังคมทูลรายงาน และกราบบังคมทูลเบิกผู้แทนคณะกรรมการจัดงานและ ผู้มีอุปการคุณเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 21 ราย และเบิกผู้ชนะเลิศการแข่งขันกิจกรรมดาราศาสตร์เข้ารับพระราชทานถ้วยรางวัล จำนวน 7 รางวัล

(10)

     จากนั้น เสด็จฯ จากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นกดปุ่มไฟฟ้า ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เสด็จเข้าอาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ ทรงลงพรนามาภิไธยบนแผ่นทองเหลือง ทอดพระเนตรนิทรรศการความก้าวหน้าการดำเนินงาน และผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูงของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และเสด็จฯ ไปในภายท้องฟ้าจำลองระบบดิจิทัลความละเอียดสูง เส้นผ่านศูนย์กลาง 16 เมตร ทอดพระเนตรวีดิทัศน์แนะนำอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร  การสาธิตการใช้งานท้องฟ้าจำลองและภาพยนตร์ดาราศาสตร์ พร้อมกันนี้ ทรงรับฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง  “ดาราศาสตร์ : เปิดประตูสู่ภูมิปัญญาสุดขอบเอกภพ” Astronomy – A Useful Frontier Science โดย ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง โจเซลิน เบลล์ เบอร์แนลล์ แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยดันดี สหราชอาณาจักร ผู้ได้รับรางวัล Special Breakthrough Prize สาขา ฟิสิกส์พื้นฐาน ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญอย่างยิ่งในการค้นพบพัลซาร์ รวมถึงเป็นผู้ที่สร้างแรงบันดาลใจต่อวงการวิทยาศาสตร์โลกในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา

(16)

(17)

     การบรรยายกล่าวถึงดาราศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าค้นหาสำหรับมนุษย์ ครั้งหนึ่งเมื่อผู้บรรยายยังเด็กได้ไป ชมท้องฟ้าจำลองเป็นครั้งแรก เรียนรู้ว่าในเอกภพมีดาวฤกษ์อยู่มากมาย บางดวงอาจมีบริวารเป็นดาวเคราะห์เช่นเดียวกับโลกของเรา หากเราสามารถสังเกตและศึกษาดาวเคราะห์เหล่านั้นได้ ก็จะทราบว่ามีสิ่งชีวิตนอกโลกหรือไม่  ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน อาทิ การสร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เมตร การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล ดาราศาสตร์จึงมีบทบาทขับเคลื่อนเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เป็นเครื่องมือพัฒนาทักษะของบุคลากร และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนและเยาวชน

(4) (1)

          จากนั้น เสด็จฯ จากท้องฟ้าจำลอง ไปยังโซนนิทรรศการ ทอดพระเนตรนิทรรศการกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน นิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ 19 โซน อาทิ ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ การสำรวจระบบสุริยะ เสียงแห่งเอกภพ การเกิดเฟสดวงจันทร์  เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิก การเปรียบเทียบน้ำหนักบนดาวเคราะห์ อุกกาบาต เป็นต้น ทรงเยี่ยมชมนิทรรศการหอจดหมายเหตุดาราศาสตร์ ที่รวบรวมเอกสารและบันทึกสารสนเทศด้านดาราศาสตร์ รวมถึงกล้องโทรทรรศน์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยทอดพระเนตรเมื่อปี พ.ศ. 2501 และอุปกรณ์ดาราศาสตร์ของศาสตราจารย์กิตติคุณระวี ภาวิไล ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หลากหลายชิ้น

(5)

     โอกาสเดียวกันนี้ รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สำหรับคนตาบอด ที่ผลิตจากห้องปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูงของสถาบันฯ และ นายมาร์ติน จอร์จ ประธานสมาคมท้องฟ้าจำลองสัมพันธ์นานาชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายภาพถ่ายดาราศาสตร์แสงใต้

(12)

     หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารดูดาว ทอดพระเนตรวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ได้แก่ ดาวศุกร์ กระจุกดาวลูกไก่ เนบิวลาในกลุ่มนายพราน และดาวบีเทลจุส ทรงบันทึกภาพกระจุกดาวลูกไก่ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกด้วย จากนั้น ทอดพระเนตรการทำงานของกล้องโทรทรรศน์หลัก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ภายในโดมไฟเบอร์กลาสทรงคล้ายเปลือกหอย เปิดออกได้ 180 องศา สังเกตท้องฟ้าได้รอบทิศทาง ได้ทอดพระเนตรดาวยูเรนัสผ่านกล้องโทรทรรศน์ดังกล่าว พร้อมกันนี้ ทรงบันทึกภาพกาแล็กซี NGC 891 เป็นการแล็กซีแบบกังหันหรือขดก้นหอย ด้วยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัติโนมัติขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ตั้งอยู่บริเวณดาดฟ้าอาคารควบคุม หอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งกลับที่ประทับ เวลาประมาณ 20.30 น.

(2)

     “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 54 ไร่ บริเวณ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่รองรับการดำเนินงานตามภารกิจหลัก 3 ประการ ได้แก่ การศึกษาค้นคว้าวิจัยดาราศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ และ การบริการวิชาการและสื่อสารดาราศาสตร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร

ภายใน ประกอบด้วยอาคารและส่วนบริการหลัก ได้แก่

     1) อาคารสำนักงานใหญ่ ประกอบด้วย ส่วนงานวิจัยและพัฒนา ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ ศูนย์ ดาราศาสตร์วิทยุ ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องสมุดดาราศาสตร์ ศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติ และส่วนงานสนับสนุนภารกิจหลัก

     2) อาคารปฏิบัติการพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ห้องปฏิบัติการการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ห้องปฏิบัติการเคลือบกระจก

     3) อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ ประกอบด้วย ส่วนท้องฟ้าจำลองระบบดิจิทัล 360 องศา ความละเอียดสูงสุด 8K ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 เมตร ความจุ 160 ที่นั่ง และพื้นที่สำหรับรถผู้พิการ ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคเหนือ และส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ 19 โซน อาทิ การสำรวจระบบสุริยะ เสียงแห่งเอกภพ การเกิดเฟสดวงจันทร์ เครื่องตรวจจับรังสีคอสมิก การเปรียบเทียบน้ำหนักบนดาวเคราะห์ อุกกาบาต ลูกตุ้มเพนดูลัมกับการพิสูจน์การหมุนของโลก ภารกิจพิชิตดวงจันทร์ เป็นต้น

     4) อาคารหอดูดาว ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลาง จำนวน 5 ชุด สำหรับให้บริการดูดาวและถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า เปิดบริการทุกวันเสาร์ 18:00-22:00 น. ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม  

     5) ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง สำหรับจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์บริการประชาชน

     “อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร” จะเป็นศูนย์รวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาวิจัย บ่มเพาะและสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ เป็นศูนย์บริการข้อมูล ฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี  ดาราศาสตร์ รวมถึงการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ  เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการดาราศาสตร์ที่สำคัญ ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นเมืองหลวงดาราศาสตร์ของไทยและศูนย์กลางดาราศาสตร์อาเซียนพร้อมเปิดบริการประชาชนเต็มรูปแบบ  ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป มีกำหนดเวลาการให้บริการ ดังนี้

วันและเวลาทำการ :

นิทรรศการดาราศาสตร์ : อังคาร – ศุกร์ 09:00 – 16:00 น. เสาร์ – อาทิตย์   10:00 – 17:00 น. หยุดวันจันทร์ เปิดให้ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ท้องฟ้าจำลอง : เรียนรู้การชมท้องฟ้า และดวงดาว 30 นาที ภาพยนตร์ดาราศาสตร์ 30 นาที

     อังคาร – ศุกร์    รอบฉาย 11:00 น. และ 14:00 น.

     เสาร์               รอบฉาย 11:00 น.  /14:00 น. /  17:00 น.

     อาทิตย์           รอบฉาย 11:00 น. และ 14:00 น.

     หยุดวันจันทร์

     ค่าเข้าชมท้องฟ้าจำลอง นักเรียน นักศึกษา   30  บาท  /  บุคคลทั่วไป  50   บาท

     กิจกรรมดูดาว NARIT Public Night ทุกวันเสาร์ 18:00-22:00 น. ไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดให้บริการช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม

 

(6)
(7)
(9)
(11)
(13)
(14)
(15)
(18)

งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

โทร. 053-121268-9ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

E-mail: pr@narit.or.th    Website : www.narit.or.th

Facebook : www.facebook.com/NARITpage

Twitter : @N_Earth,  Instagram : @NongEarthNARIT

Call Center กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทร. 1313