เชียงใหม่ จัดงานประเพณีไหว้สาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 บนยอดดอยอินทนนท์

2506

จังหวัดเชียงใหม่ จัดงานประเพณีไหว้สาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 บนยอดดอยอินทนนท์ โดยมีประชาชนร่วมงานเป็นจำนวนมาก

     วันนี้ (23 พ.ย. 62) ที่ บริเวณลานหน้าพระสถูปพระเจ้าอินทวิชยานนท์ บนยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประกอบพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ในงานประเพณีไหว้สาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ประจำปี 2562 โดยคณะทายาทเจ้านายฝ่ายเหนือ ร่วมกับ มูลนิธิพระสถูปพระเจ้าอินทวิชยานนท์ สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สภาวัฒนธรรมอำจอมทอง และหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ที่ได้สร้างประโยชน์สุขนานัปการไว้กับชาวเชียงใหม่

gymXlV.jpg

     การจัดพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ หรือ งานไหว้สาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ จะจัดขึ้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันถึงแก่พิราลัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 23 แล้ว โดยปีนี้มีประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวมาร่วมในกิจกรรมจำนวนมาก

     ภายในงานมีการจัดขบวนแห่พานพุ่มดอกไม้และเครื่องสักการะของคณะทายาทเจ้านายฝ่ายเหนือ และหน่วยงานต่างๆ อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา เริ่มต้นตั้งแต่บริเวณสถานีควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์ (สถานีเรดาร์) เคลื่อนขบวนเข้ามาจนถึงบริเวณลานพิธี ระยะทางกว่า 500 เมตร มีการกล่าวเฉลิมพระเกียรติฯ แสดงความกตัญญูต่อเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ การฟ้อนรำถวาย การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระเจ้าอินทวิชยานนท์ให้ประชาชนได้รับทราบ

     พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เดิมชื่อ อินทนนท์ เป็นบุตรของพระเจ้ามหาพรหมคำคง และแม่เจ้าคำหล้า ขึ้นครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2413 เป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าเมืองประเทศราชองค์สุดท้าย และเป็นพระราชบิดาในพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงครองนครเชียงใหม่จนกระทั่งถึงแก่พิราลัยในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2440 ด้วยโรคชรา รวมระยะเวลา 24 ปี ตลอดระยะเวลาพระองค์ทรงสร้างคุณประโยชน์ให้แก่เมืองเชียงใหม่อย่างมากมาย ทั้งด้านการศึกษา การศาสนา การเมือง การปกครองและเศรษฐกิจ ภายหลังเสด็จพิราลัย พระอัฐิส่วนหนึ่งได้เชิญไปประดิษฐาน ณ พระสถูปพระอัฐิในกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ วัดสวนดอก พระอารามหลวง และอีกส่วนหนึ่งอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระสถูปบนยอดดอยอินทนนท์ อันเป็นสถานที่ซึ่งพระองค์ทรงรักและหวงแหนมากที่สุด และได้นามตามพระนามของพระองค์ด้วย

gymngk.jpg

gymVtN.jpggym8FE.jpg

gymaGQ.jpggymvfS.jpggymJHg.jpggym67l.jpggymr2v.jpggymGqn.jpggymeSW.jpggymmg2.jpggymyC1.jpg