สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ยืนยัน! ยังไม่มีการอนุญาตให้เช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าบนลานประตูท่าแพ

1087

สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ยืนยัน! ยังไม่มีการอนุญาตให้เช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าบนลานประตูท่าแพ

     จากกระแสข่าวในเรื่อง จะมีการจัดล็อคเพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า กลับมาขายสินค้า บริเวณพื้นที่ข่วงประตูท่าแพ เหมือนดั่งเช่นก่อนปี พ.ศ.2557 สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากจังหวัดเชียงใหม่ให้กำกับดูแลพื้นที่ให้สงวนไว้เพื่อการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี จิตอาสาและงานราชพิธีนั้น

     สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ขอเรียนให้ทราบว่าสำนักฯ ได้รับการประสานจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ประชุมหารือกันหลายภาคส่วนในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 สำนักฯได้สนับสนุนในแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มในการใช้พื้นที่ข่วงประตูท่าแพ และได้ให้ข้อแนะนำในการพัฒนาข่วงประตูท่าแพให้เป็น “ข่วงวัฒนธรรมที่แท้จริง” ไม่ใช่ตลาดนัด ไม่ใช่ใครอยากจะทำอะไรเพื่อเอาสมบัติมรดกทางวัฒนธรรมมาเป็นแหล่งกอบโกยหาผลประโยชน์ และสำนักฯได้ทบทวนและมีแนวคิดว่า หากจะมีการดำเนินการใดๆ จะต้องให้ข่วงวัฒธรรมประตูท่าแพเป็นในแนวทางดังนี้

1. ข่วงประตูท่าแพ จะต้องเป็นข่วงวัฒนธรรมที่แท้จริง ที่จะให้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเฉพาะ การศึกษา การศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี จิตอาสาและงานราชพิธี
2. ในการเป็นข่วงวัฒนธรรม จะต้องรักษาความเป็นเอกลักษณ์ หรือ แลนด์มาร์คของเมือง คำนึงถึงภาพลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่เป็นสำคัญ
3. หากมีกิจกรรมที่เป็นพาณิชย์ จะอนุโลมให้เฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชุมชน วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาติพันธุ์ สินค้าที่เป็นการส่งเสริมโดยรัฐ ทั้งนี้จะต้องมีการออกแบบวางผังการจัดพื้นที่ข่วงวัฒนธรรม โดยจะต้องไม่บดบังจุดสำคัญของข่วงประตูท่าแพและมีพื้นที่สาธารณะในการจัดกิจกรรมอื่น ไม่ใช่ตลาดนัด
4. ไม่อนุญาตให้ขายสินค้าอื่นเช่น สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ , สินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์,สตรีทฟู้ด ,อาหารปรุงสำเร็จในที่ ,อาหารสัตว์ เว้นแต่อาหารที่ดำรงความเป็นไทย ความเป็นอัตตลักษ์ของท้องถิ่น ชาติพันธุ์ ที่บรรจุสำเร็จ
5. ห้ามไม่ให้มีการกางเต้นท์ผ้าใบหรือสิ่งก่อสร้างแปลกปลอมอื่น ห้ามติดป้ายโฆษณาอื่นใดที่สื่อไปถึงการโฆษณาเพื่อการพาณิชย์อื่น นอกจากป้ายแสดงสินค้าหรือป้ายนิทรรศการแสดงความเป็นมาที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมนั้นๆ
6. ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม จะต้องแต่งกายด้วยชุดผ้าพื้นเมือง ชุดชนเผ่า การจัดวางสินค้าจะต้องใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติ เช่นวางบนแคร่ไม้ไผ่ แขวนบนมู่ลี่ไม้ไผ่ ใช้ร่มผ้าฝ้ายดิบเพื่อป้องกันแดด น้ำค้าง ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากโฟมและพลาสติก เป็นต้น
7. ให้ใช้พื้นที่ได้เฉพาะวันอาทิตย์หลังจากเวลา ๑๒.๐๐ น. เป็นต้นไปจนถึงเวลา ๒๔. ๐๐ น. และหากวันอาทิตย์ใด ตรงกับที่ส่วนราชการจะต้องใช้พื้นที่ในการจัดงานราชพิธี หรือจัดงานตามขนบธรรมเนียมประเพณี หรือกิจกรรมจิตอาสา จะต้องงดใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมข่วงวัฒนธรรม ทุกครั้ง
8. ไม่อนุญาตให้จอดรถบนข่วงประตูท่าแพ ในช่วงจัดกิจกรรม ข่วงวัฒนธรรม ยกเว้นเพื่อการขนถ่ายลงวัสดุที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
9. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องรักษาความสะอาด หรือจ่ายค่าธรรมเนียมในการรักษาความสะอาดตามระเบียบส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
10. ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม ค่าเช่าล็อคหรือค่าเช่าแผง แต่อย่างใด
11. การออกแบบ วางผังการจัดพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ มีการประชาสัมพันธ์และรับฟังแนวความคิดของประชาชนชาวเชียงใหม่โดยรวมเป็นสำคัญ
12. ต้องมีคณะกรรมการทั้งภาครัฐและประชาชน กำกับดูแลอย่างเป็นระบบ

***ทั้งนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ผลได้ ผลเสีย ยังไม่มีการอนุญาตให้ดำเนินการในพื้นที่แต่อย่างใด