แม่ทัพภาค 3 ประชุมผู้ว่าฯ 9 จังหวัดภาคเหนือ และภาคส่วนต่างๆ หาแนวทางแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันอย่างยั่งยืน

1368

แม่ทัพภาคที่ 3 เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ วางแผนแก้ไขปัญหา ระดมความคิดทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในปีต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม

     เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 62 พลโท ฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับภาค เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ที่โรงแรมคุ้มภูคำ เชียงใหม่ โดยมี นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมพิธีเปิด พร้อมผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทน จาก 9 จังหวัดภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนในแต่ละพื้นที่ที่เกิดปัญหาฯ มาร่วมกันทบทวนแนวทางในการปฏิบัติดังกล่าว และนำไปสรุปเป็นแผนปฏิบัติการในแต่ละเรื่อง เพื่อให้ทุกส่วนได้นำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติให้เกิดความพร้อม สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาก่อนที่จะเผชิญวิกฤตเหมือนปีนี้ ตลอดจนให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือในอนาคตได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง นำไปสู่ความสำเร็จตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่าเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

      จากที่ กองทัพภาคที่ 3 บูรณาการทุกหน่วยงานใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกันทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ มาตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม) ในปีนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก ในด้านของสุขภาพ ก่อให้เกิดอาการป่วยถึง 404,943 ราย พื้นที่ป่าถูกทำลาย 5,478,013 ไร่ ทำให้ในห้วงที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องฃเร่งดำเนินการแก้ไข ทุ่มเทกำลังพล เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์ และงบประมาณ พร้อมภาคประชาชนที่ให้การสนับสนุน ช่วยกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในทุกจังหวัดอย่างเต็มความสามารถ จนสถานการณ์ดีขึ้นและเข้าสู่ภาวะปกติ

     แม่ทัพภาค 3 กล่าวว่า เหตุการณ์หมอกควันไฟป่าวิกฤตทุกปี ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีจุด Hotspot แตกต่างกัน การประชุมในวันนี้เป็นการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาในปีต่อไปได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

     การประชุมในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน มีการระดมความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม โดยแบ่งเป็น 9 จังหวัด ซึ่งการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในปีหน้า จะต้องหาทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุให้เป็นรูปธรรม โดยขอความร่วมมือจากนายอำเภอทุกพื้นที่ให้เป็นแกนหลัก เนื่องจากนายอำเภอสามารถขอความร่วมมือและเข้าถึงชาวบ้านได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งกลุ่มชาติพันธ์และประชาชนในพื้นที่ ที่จะต้องมีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ มีการจัดระเบียบและกำหนดช่วงเวลาการเผาที่ชัดเจน มีการให้ความรู้และหาแนวทางหาของป่าโดยวิธีอื่น ซึ่งจะต้องนำข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขปัญหาในวันนี้เสนอรัฐบาลต่อไป

ข่าว : สุดาภรณ์ อินต๊ะธรรม / สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่